กทม. 19 ม.ค. – “ครูหยุย” เสนอตั้งองค์คณะพิจารณาโทษเด็ก ประเมินความรุนแรงก่อนลงโทษ พร้อมหาแนวทางคู่ขนาน หลังเหตุป้าบัวผัน-พารากอน
นายวัลลภ ตังค์คณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โพสต์ลงโซเชียล ถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกรณีการลงโทษเด็กและเยาวชนที่ก่อเหตุอาชญากรรม ว่ากรณีที่เยาวชนอายุน้อยก่อเหตุอาชญากรรมตั้งแต่เหตุการณ์ที่สยามพารากอน และกรณีเยาวชนรุมทำร้ายป้าบัวผัน จนเสียชีวิตล่าสุด เป็นเรื่องสะเทือนขวัญที่มีข้อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญาที่มองว่าโทษน้อยเกินไป ทั้งนี้ ตามหลักกฎหมายแบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มต่ำกว่า 12 ปี ถ้าทำผิดศาลไม่เอาโทษ กลุ่มอายุ 12-15 ปี ศาลยังคงยกเว้นโทษ เรียกผู้ปกครองมาคาดโทษและภาคทัณฑ์ไว้ หรือใช้วิธีกักตัวในสถานพินิจ หรือเรียกกันว่าคุกของเด็ก กลุ่มเด็กอายุ 15-18 ปี ถ้าจะลงโทษ โทษก็จะลดลงตามอายุ กลุ่มช่วงอายุ 18-20 ปี ก็ต้องรับโทษ
นายวัลลภ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายคนบอกว่าหากทำแบบนี้เด็กไม่ หลาบจำ ส่วนตัวทำงานด้านเด็กมาตั้งนาน เข้าใจความรู้สึกของประชาชนและรู้สึกปวดร้าวเช่นเดียวกัน นอกจากเรื่องโทษที่กำหนดตามอายุแล้วต้องมองพฤติกรรมที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอว่าหากจะมีการแก้ไขกฎหมาย ถ้าเป็นพฤติกรรมโหดร้ายรุนแรงพอๆ กับที่ผู้ใหญ่กระทำต่อผู้อื่น ก่อนที่ศาลจะพิจารณาโทษอาจมีองค์คณะที่มีตัวแทนจากสหวิชาชีพ เข้ามาดูพฤติกรรม เพื่อประเมินว่าเป็นพฤติกรรมที่รุนแรงเกินไป จะใช้โทษแบบเดิมไม่ได้ ต้องใช้โทษที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นทางออก พร้อมกับให้ผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ พ่อแม่ ต้องดูแลให้ดีว่าจะทำอย่างไร ให้เด็กลดการเสพสื่อที่รุนแรง ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป
นายวัลลภ ยังเปิดเผสถิติปี 2565 ที่พบว่าคดีที่เด็กและเยาวชนก่อขึ้นมา มีกว่า 12,000 คดี และในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดกว่า 4,000 คดี อาจสืบเนื่องมาจากปล่อยให้มีการดื่มน้ำกระท่อมหรือกัญชาเสรี และยังมีแนวคิดเปิดสถานบริการถึงตี 4 ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ต้องระมัดระวัง ในขณะที่เราไปมุ่งดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เด็กทำ แต่ไม่ได้มองมิติสังคมที่สร้างความรุนแรงให้แก่เด็ก ดังนั้น ต้องดูว่าจะลดภาวะความเลวร้ายรอบตัวเด็กและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับเด็กได้เสพอย่างไร.-314.-สำนักข่าวไทย