รัฐสภา 14 ม.ค.-รัฐสภารับหลักการร่างแก้ข้อบังคับประชุม เปิดช่องคนนอกนั่ง กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ ด้าน “สว.พันธุ์ใหม่” โวยเสียงข้างน้อยถูก สว.เสียงข้างมาก รวบรัดตัดตอน เกือบชวดนั่งกรรมาธิการฯ
การประชุมร่วมรัฐสภา มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาเป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .ซึ่งนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ เพื่อปรับปรุงเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมรัฐสภาให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเสนอแก้ไขเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนสามารถเข้ามาเป็นกรรมาธิการ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาในชั้นกรรมาธิการได้ เพื่อให้กระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมีความรอบคอบรอบด้านมากขึ้น รวมถึงให้ภาคประชาสังคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การแก้รัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงเพิ่มการใช้ประโยชน์จากช่องทางออนไลน์สำหรับงานธุรการของรัฐสภา เพื่อลดการใช้กระดาษ พร้อมยกเลิกบทบัญญัติข้อบังคับการประชุมรัฐสภาที่ไม่มีความจำเป็น ที่เกี่ยวกับหมวดการปฏิรูปประเทศ และหมวดที่เกี่ยวการเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีออกจากข้อบังคับการประชุม
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของ สส.และ สว.นั้น เป็นไปอย่างหลากหลาย เช่น นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ตนเองสนับสนุนให้มีการรับหลักการ แม้ยังมีข้อถกเถียงในการตั้งบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเป็นกรรมาธิการ เพื่อหาข้อสรุปทางกฎหมายในการปรับแก้ชั้นกรรมาธิการ เพราะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สามารถตั้งบุคคลภายนอกมาเป็นที่ปรึกษาของกรรมาธิการได้
นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา ยังติดใจในการแก้ไขคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นกรรมาธิการ ซึ่งในร่างแก้ไขฯ นั้น ได้ตัดเกณฑ์ที่กรรมาธิการ จะต้องพ้นจากตำแหน่งในกรณีการขาดสมาชิกภาพแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกออก เท่ากับว่าจะให้คนที่ต้องคดี เข้ามาเป็นกรรมาธิการด้วย และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ ควรให้สมาชิกรัฐสภาดำรงตำแหน่ง แต่หากให้ผู้ที่ขาดสมาชิกภาพเป็นกรรมาธิการได้ ถือว่า เป็นการดูแคลนกันไป
ด้านนายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อบังคับข้อ ที่เปิดทางให้บุคคลภายนอก ที่ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาเข้ามาทำหน้าที่กรรมาธิการ และการกำหนดสัดส่วนให้ประชาชนผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าเป็นกรรมาธิการ จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการ ที่กำหนดให้มี 45 คน จึงถือว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 114 ที่กำหนดว่า สส., สว.หรือสมมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย และการเสนอแก้ไขเช่นนี้ เท่ากับว่า จะตั้งใครก็ได้ใน 45 คน ไม่ต้องมีสมาชิกรัฐสภาแม้แต่คนเดียวก็ได้ จึงมองว่า ไม่เป็นเหตุที่สมควร อีกทั้งการเสนอให้มีตัวแทนประชาชนที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญนั้น ตนยังติดใจในกระบวนการคัดเลือกที่ต้องโปร่งใส ยุติธรรม ไม่ใช่ถูกเลือกเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ขณะที่นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เห็นว่า การกำหนดสิทธิให้ผู้แทนประชาชน ที่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นกรรมาธิการจำนวน 1 ใน 3 หรือ 15 คนซึ่งเท่ากับจำนวน สว.หรืออาจจะมากกว่ามาทำหน้าที่แทน ซึ่งเท่ากับไม่เชื่อว่า 2 สภาทำหน้าที่ได้ ไม่ไว้วางใจฝีมือสมาชิกรัฐสภาในการแก้กฎหมาย กลับเอาตัวแทนคนกลุ่มหนึ่ง ที่สถานปนาตัวเองเป็นผู้แทน หรือตั้งตัวเป็นตัวแทนเพื่อใช้สัดส่วนนี้ ตนคิดว่า การเปิดช่องแบบนี้ ตนไม่เห็นด้วย และเท่ากับว่า ระบบรัฐสภาล้มเหลว
ในที่สุดที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก 415 ต่อ 185 งดออกเสียง 3 เสียง รับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภา และเสนอตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาจำนวน 18 คน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ที่ประชุมรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแล้ว แต่ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการนั้น กลับเป็นไปด้วยความวุ่นวาย เนื่องจาก นายฤช แก้วลาย สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอตั้งกรรมาธิการ จำนวน 5 คน ได้แก่ นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ, นาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ, พันตำรวจเอกกอบ อัจนากิตติ, นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ และนายสิทธิกร ธงยศ
แต่นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ได้เสนอรายชื่อสวน 5 คน ได้แก่ นางสาวนันทนา นันทวโรภาส, นายประภาส ปิ่นตบแต่ง, นายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์, นายวีรยุทธ์ สร้อยทอง และนายสุนทร พฤกษพิพัฒน์
ทำให้ที่ประชุมต้องถกเถียงกันไม่สามารถตกลงกันได้ โดยนางสาวนันทนา ได้ลุกขึ้นประท้วง เพราะที่ผ่านมาวุฒิสภา ได้มีการรับรัดตัดตอน ไม่มีเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเสียงข้างน้อยมาโดยตลอด เสียงข้างมากของวุฒิสภา ต้องการแต่งตั้งใคร ก็จะกำหนดขึ้นมา โดยไม่สนใจเสียงข้างน้อย ทั้งที่วุฒิสภา มาจากตัวแทนกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม แต่ไม่ให้ตัวแทนกลุ่มเข้ามาเป็นตัวแทน รวมถึงการปรับแก้ข้อบังคับครั้งนี้ ก็ไม่ยินยอมให้เสียงข้างน้อยเข้ามามีบทบาท จึงเป็นการรวบรัดตัดตอน ทำลายประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอให้ประธานรัฐสภา รับฟังการเสนอชื่อของวุฒิสภาเสียงข้างน้อย พร้อมขอให้ได้รับรู้ว่า สภาไม่ใช่เสียงข้างมากลากไป จึงทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้สั่งพักการประชุม 30 นาที เพื่อให้วุฒิสภาไปหารือกันก่อน เพื่อจะได้เลี่ยงการลงมติตามข้อบังคับการประชุม
ทั้งนี้ ภายหลังกลับเข้าสู่การประชุม สมาชิกวุฒิสภา ได้ยอมเปลี่ยนชื่อกรรมาธิการใหม่ โดยนายฤช แก้วลาย สมาชิกวุฒิสภา ได้เสนอตั้งกรรมาธิการ จำนวน 5 คน ซึ่งเป็นรายชื่อชุดใหม่ ประกอบด้วย นายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระ, นาวาตรีวุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ, พันตำรวจเอกกอบ อัจนากิตติ, นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ และนายพรชัย วิทยเลิศพันธุ์ โดยเพิ่มนายพรชัย เข้ามาทำหน้าที่แทนนายสิทธิกร.-312.-สำนักข่าวไทย