สภาฯ รับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

รัฐสภา 17 ม.ค.-ที่ประชุมสภาฯ มีมติเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด คืนสิทธิอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน พร้อมตั้งกมธ. 39 คนปรับแก้ ก่อนพิจารณาต่อวาระ 2-3


ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเป็นเอกฉันท์ 443 เสียง รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ พร้อมยังรับหลักการร่างกฎหมายอากาศสะอาด ที่ภาคประชาชนกว่า 22,000 รายชื่อ และพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์เสนอ รวมทั้งสิ้น 7 ฉบับ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า ปัจจุบันปัญหามลพิษทางอากาศทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 จึงต้องกำหนดกลไกการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ พร้อมกำหนดให้มีการพัฒนาและบูรณาการการบริหารจัดการปัญหาของทุกภาคส่วนให้เป็นระบบ กำหนดให้มีระบบการวางแผนการดำเนินงานและกำกับดูแล  เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อลดสาเหตุการเกิดมลพิษที่แหล่งกำเนิด รวมทั้งป้องกันการปล่อยมลพิษ ฝุ่น ควัน และกลิ่น เข้าสู่สภาพแวดล้อมและชั้นบรรยากาศ พัฒนาระบบการประเมินคุณภาพอากาศ ระบบการเฝ้าระวัง ระบบ การเตือนภัยและระบบการจัดการในสถานการณ์วิกฤติจากภาวะมลพิษทางอากาศ ตลอดจนการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อให้เกิดอากาศสะอาด เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีมีความปลอดภัยต่อสุขภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของประชาชน


น.ส.คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ตัวแทนภาคประชาชนผู้เสนอกฎหมาย ชี้แจงว่า จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันพิษและมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 เป็นสิ่งที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน  ทำให้คนที่มีโรคระบบทางหายใจเรื้อรัง เกิดอาการกำเริบ และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรง เป็นภัยเงียบต่อสุขอนามัยของประชาชน และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งสาเหตุสำคัญต่อการป้องกันและแก้ปัญหาหมอกควันพิษในประเทศไทย คือ ความไม่เพียงพอของกฎหมายที่มีในปัจจุบัน ขาดการบูรณาการ ทำให้การแก้ปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและทันท่วงที รวมทั้งยังจำเป็นจะต้องมีการอำนวยการ และกำกับดูแลการจัดการอากาศร่วมอย่างบูรณาการ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนเครื่องมือมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อจูงใจผู้ประกอบการ ที่เป็นต้นเหตุสำคัญของการก่อมลพิษ ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิธีการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นจะต้องมีการตรากฎหมายขึ้นมาเพื่อบังคับใช้

นายอลงกต มณีกาศ สส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย ชี้แจงร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทยว่า เนื่องจากฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบ ต่อสิ่งมีชีวิตติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน และแนวโน้มของสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ และยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศ สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการของภาครัฐ ซึ่งสถานการณ์ฝุ่นมีสาเหตุมาจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ภายในประเทศ รวมไปถึงฝุ่นควันที่ลอยมาจากแหล่งกำเนิดในต่างประเทศ จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชน จึงจำเป็นจะต้องมีกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพของประชาชน

นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พรรคพลังประชารัฐ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายจากพรรคพลังประชารัฐว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชาชน ทั้งจากการเผาในที่โล่ง รถยนต์ หรือภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ซึ่งเกี่ยวโยงทั้งโรคภัยไข้เจ็บ ค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ พรรคพลังประชารัฐ จึงเสนอร่างกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้รับอากาศบริสุทธิ์อย่างเท่าเทียม แม้หลายรัฐบาลพยายามแก้ไข แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องเสนอร่างกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือลดมลภาวะให้กับประเทศ


นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายจากพรรคเพื่อไทยว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ฝุ่นควัน ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศ ทั้งจากในประเทศ และหมอกควันข้ามแดน ส่งผลกระทบต่อประชาชน และเศรษฐกิจ โดยมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนต่างได้รับผลกระทบและตกอยู่ในภาวะอันตราย และยังต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาล และยังส่งผลเสียหายต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยว จึงจำเป็นต้องพัฒนาและปฏิรูปการบริหารจัดการความสะอาดสะอาดให้มีประสิทธิภาพ จัดการมลพิษอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การมีอากาศสะอาด โดยจะมีระบบการบริหารราชการเชิงพื้นที่ การพัฒนามาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด การประเมินคุณภาพ การเฝ้าระวัง การเตือนภัย การจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น พร้อมยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะสามารถจัดการปัญหามลพิษข้ามพรมแดนได้ ผ่านมาตรการทางเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการทางภาษี และการนำเข้า เพื่อลงโทษผู้ประกอบการที่ก่อมลพิษ เหมือนประเทศสิงคโปร์

นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ว่า มีความจำเป็นที่ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีกฎหมายใช้บังคับ เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ เพราะประชาชนเฝ้ารอมานานเพื่อมีอากาศสะอาดหายใจ โดยมั่นใจว่า ร่างกฎหมายฉบับเหล่านี้ จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิที่จะหายใจสะอาด สามารถรับทราบข้อมูลคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเป็นระบบ และแก้ปัญหาจากต้นตอแหล่งกำเนิด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ส่งผลกระทบภายในประเทศมานานกว่า 10 ปี โดยไม่มีการแก้ปัญหาในเชิงกฎหมายที่ชัดเจนและครอบคลุม ให้การแก้ปัญหาโดยบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้ รวมถึงยังมีแหล่งกำเนิดจากหลายกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ รวมไปถึงการก่อมลพิษข้ามพรมแดน จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน เพื่อให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ และมีมาตรการทางเศรษฐกิจ เพื่อปรับผู้ประกอบการที่ก่อให้เกิดมลพิษ เพื่อให้คนไทยได้รับอากาศสะอาดด้วยความเท่าเทียมกัน จึงมีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายฉบับนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายของสส.ส่วนใหญ่ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดทุกร่าง ทุกฉบับที่ถูกเสนอโดยคณะรัฐมนตรี ภาคประชาชน และพรรคการเมือง เพื่อคืนอากาศสะอาดและคืนสิทธิการหายใจอากาศสะอาด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน รวมถึงแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาชุดหนึ่ง จำนวน 39 คน เพื่อพิจารณาปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 ตามขั้นตอน โดยที่ประชุมฯ มีมติให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นร่างหลักในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ

สำหรับเนื้อหาภายในร่างพระราชบัญญัติการจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี กำหนดให้มีการกำหนดนโยบายระดับชาติเกี่ยวกับการจัดระบบสิ่งแวดล้อม เพื่ออากาศสะอาดปลอดภัยต่อสุขภาพทุกคน โดยให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับเหตุพื้นฐาน ที่มาจากแหล่งกำเนิด รวมถึงการสร้างความร่วมมือในการป้องกัน และแก้ไขภาวะมลพิษทางอากาศ และพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ และนานาชาติ ซึ่งหน่วยงานรัฐ จะต้องปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหามลพิษ  กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาด” ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จัดทำแผนแม่บทเพื่ออากาศสะอาดและปลอดภัย พิจารณากำหนดเครื่องมือ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อบริหารจัดการอากาศสะอาด ทั้งมาตรการการเงิน การคลัง ภาษี การส่งเสริมการลงทุน และนโยบายอื่น ๆ เพื่ออากาศสะอาด เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน  หากไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ จะมีโทษปรับ 50,000 บาท ผู้ที่เผาในที่โล่งโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับไม่เกิน 50,000 บาท ผู้ที่ปล่อยทิ้งอากาศเสียโดยไม่บำบัดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานควบคุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ครองครองแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศนอกประเทศ ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000,000 บาทเป็นต้น.-314.-สำนักข่าวไทย       

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เหล้าเถื่อนลาว

เสียชีวิตรายที่ 6 คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว

คลัสเตอร์เหล้าเถื่อนในลาว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตเพิ่มรายที่ 6 เป็นหญิงชาวออสเตรเลีย เสียชีวิตขณะรักษาตัวในไทย

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษา ทบ.

ย้ายเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ช่วยปฏิบัติราชการที่กองบัญชาการกองทัพบก หลังถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ใต้บังคับบัญชา พร้อมช่วยเจ้าทุกข์ย้ายหน่วยตามร้องขอ

ไฟไหม้โรงงานพัดลม เผาวอดเสียหายกว่า 50 ล้าน

ไฟไหม้โรงงานผลิตพัดลมรายใหญ่ จ.สมุทรสาคร ระดมรถดับเพลิงระงับเหตุ กว่า 5 ชม. จึงควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด เบื้องต้นเสียหายกว่า 50 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

จับหมอดังฟอกเงิน

ออกหมายจับ “หมอดัง” พร้อมพวกรวม 9 คน “ฉ้อโกง-ฟอกเงิน”

ตำรวจออกหมายจับ “หมอดัง” พร้อมพวกรวม 9 คนข้อหา “ฉ้อโกง-ฟอกเงิน” ล่าสุดจับได้แล้ว 6 คน ส่วนอีก 3 คน อยู่ระหว่างติดตามตัว เบื้องต้นมีข้อมูลว่า “หมอดัง” หนีออกนอกประเทศตั้งแต่ ก.ย.ที่ผ่านมา

“เหนือ-อีสาน-กลาง” อากาศเย็น ภาคใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุฯ รายงานภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า