รัฐสภา 21 ส.ค.-รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ชี้แจงสภาฯ วิกฤติปัญหาขยะทางทะเล วางทุ่นกักขยะในแม่น้ำแล้ว 24 จุด เหลืออีก 125 จุด ทยอยติดตั้ง จัดเรือเก็บขยะประจำการบริเวณปากแม่น้ำก่อนไหลสู่ทะเล ขณะเดียวกัน ขอประชาชนช่วยกันปรับพฤติกรรมการใช้พลาสติก หลังเหตุการตายของลูกพะยูนมาเรียม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (21 ส.ค.) ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในการประชุม โดยที่ประชุมเข้าสู่วาระการพิจารณากระทู้ถามสด ซึ่งนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งกระทู้ถาม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องวิกฤติปัญหาขยะทางทะเล พร้อมยกตัวอย่างการตายของมาเรียม ลูกพะยูนหลงฝูง โดยระบุว่า ประเทศไทยเป็นอันดับที่ 6 ของโลกที่มีขยะทางทะเลมากที่สุด สร้างความเสียหายให้กับทรัพยากรทางทะเลจำนวนมาก ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
โดย นายวราวุธ ชี้แจงว่า ปรากฏการณ์การจากไปของมาเรียม เปรียบเสมือนเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว น่าจะทำให้คนไทยได้ตระหนักถึงการทิ้งพลาสติกในทะเลว่าจะส่งผลกระทบอย่างไร เพราะเพียงแค่ทิ้งขยะลงทะเลเพียงชิ้นเดียว กลับทำให้คนไทยและเด็ก ๆ ทั้งประเทศต้องโศกเศร้าเสียใจกับการจากไปของพะยูนมาเรียม ปัจจุบันขยะทะเลมาจากขยะบกถึงร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก โดยในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้วางทุ่นกักขยะ (Boom) ในแม่น้ำแล้ว 24 จุด เหลืออีก 125 จุดที่จะทยอยดำเนินการติดตั้ง ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเรือเก็บขยะ จำนวน 2 ลำ ประจำการที่ จ.สมุทรสาคร และ จ.ภูเก็ต เพื่อจัดเก็บขยะบริเวณปากแม่น้ำก่อนไหลสู่ท้องทะเล และจะมีการจัดหาเพิ่มเติมอีก 7 ลำไปประจำการเก็บขยะในจังหวัดต่าง ๆ อาทิ ระยอง ชลบุรี ชุมพร ระนอง
นายวราวุธ กล่าวด้วยว่า ไมโครพลาสติก หรือพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร เช่น เม็ดบีทในโฟมล้างหน้า ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีในการกำจัดได้ ยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกของคนไทยยังเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องช่วยกันทำให้สำเร็จ ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายรัฐบาลจะดีอย่างไร แต่หากพฤติกรรมของประชาชนไม่ตระหนักรู้ในเรื่องนี้ ก็ไม่มีประโยชน์และจะยังคงเกิดปรากฎการณ์มาเรียมซ้ำอีกในอนาคต.-สำนักข่าวไทย