ท่าพระจันทร์ 24 ก.ค. – นักวิชาการ มธ. – เอดีบี มองเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังดีขึ้น ขณะที่เอกชนหวั่นส่งออกซึมยาว 20 ปี เหตุประเทศไทยไม่มีอำนาจขึ้นราคาสินค้า
ในงานเสวนา ” จับตาทิศทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง กระเตื้องขึ้นหรือซึมยาว” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเฉลิมพงษ์ คงเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจครึ่งปีหลังมีแนวโน้มดีกว่าครึ่งปีแรก โดยอัตราการเติบโตปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.58 มากกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เป็นผลมาจากการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าโตร้อยละ 11.30 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัว คาดว่าทั้งปีโตร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 ส่วนการบริโภคภาคเอกชน คาดโตร้อยละ 3.7-3.8
อย่างไรก็ตาม หากการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปีนี้อาจโตลดลงเหลือร้อยละ 3.4 โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น หากค่าเงินบาทแข็งค่าเกินกว่าระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจกระทบการส่งออก ทำให้อัตราการเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ อีกทั้งต้องติดตามการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว หากเมื่อครบกำหนด 6 เดือนที่รัฐบาลผ่อนผันแล้ว แรงงานต่างด้าวยังไม่กลับเข้ามาทำงานในไทย อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้เช่นกัน
ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกยังคงซึมต่อเนื่อง 20 ปี การส่งออกไม่ได้กระเตื้องขึ้นอย่างตัวเลขที่เห็น เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าให้ดีขึ้นและไม่มีอำนาจทางการตลาดกำหนดหรือต่อรองราคาสินค้ากับประเทศคู่ค้าได้ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขัน ไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะแข็งค่าหรืออ่อนค่าก็ถูกกดราคาสินค้าอยู่ดี ดังนั้น อัตราแลกเปลี่ยนจึงไม่มีผลต่อการขยายตัวของการส่งออก และเอกชนสามารถป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าได้
ด้านนางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า เอดีบียังคงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.5 ขณะที่ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยให้น้ำหนักที่การลงทุนภาครัฐเป็นหลัก ประกอบกับ การส่งออกกลับมาขยายตัวดีตามปัจจัยหนุนต่างประเทศ การค้าโลกที่ฟื้นตัวขึ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงในประเทศที่ต้องติดตาม คือ การลงทุนภาครัฐหากล่าช้าจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจเพราะเป็นปัจจัยหลักที่ให้น้ำหนักสูงสุด ขณะที่การจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ถือเป็นปัจจัยเฉพาะหน้าที่รัฐบาลต้องแก้ไขระยะสั้น ซึ่งสิ่งสำคัญ คือ การจัดการแรงงานทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและปัจจุบันกำลังขาดแคลนแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับโครงสร้างแรงงานให้เป็นแรงงานที่มีทักษะและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่ใช่พึ่งพิงแรงงานต่างด้าวตลอดไป .- สำนักข่าวไทย