กทม. 22 ก.ค.-สมาคมนิติศาสตร์ มธ. จัดสัมมนา
‘นักกฎหมายไทย 4.0’ คณบดีนิติศาสตร์ ม.สยาม
ชี้มหาวิทยาลัยตั้งปรับตัว-แต่ห้ามลืมจรรยาบรรณ
ผู้พิพากษาเผยศาลยุติธรรมนำร่องใช้ระบบ e-Court แล้ว-ฟ้องผ่านเน็ตได้
เล็งสืบพยานผ่านจอภาพ-เก็บสำนวนในระบบดิจิตอล
อาจารย์นิติฯมธ.ชี้ต้องวางระบบป้องกันสูงกันถูกแฮ็ก
ปรับหลักสูตรใหม่รองรับดิจิตอล-ผลักดัน นศ.ฝึกงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2560 ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร
คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์ สมาคมนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2560 สมัยที่ 21 และงานเสวนาเรื่อง ‘นักกฎหมายไทย 4.0 โดยมี ผศ.ดร.สมหมาย
จันทร์เรือง คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.สยาม นายธนารักษ์ เนาวรัตน์
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา นายสัตยะพล สัจจเดชะ
อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมเสวนา มี รศ.ศิริศักดิ์
ศุภมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายสมัคร เชาวภานันท์ นายกสมาคมนิติศาสตร์
ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ต่อไปคนเรียนนิติศาสตร์ อาจตกงานกันเยอะ
โดยเฉพาะตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย เพราะอนาคตดิจิตอลจะเข้ามามีบทบาทด้านกฎหมาย
ในอินเทอร์เน็ตจะบันทึกรายละเอียดแต่ละคดีไว้ ต่อไปเวลาลูกความมีปัญหาอะไร
จะไม่มาปรึกษาที่ปรึกษากฎหมาย แต่เสิร์ชดูในอินเทอร์เน็ตเลยว่า มีปัญหาอย่างนี้ รู้คำตอบทันทีว่ามีปัญหาอะไร
อย่างไรก็ดีวิธีพิจารณาในศาลต้องใช้ทนายอยู่
ปัจจุบันศาลแพ่งใต้นำระบบดิจิตอลมาใช้ในการยื่นคำฟ้อง และแจ้งผลหมายเข้ามาช่วยแล้ว
ทนายไม่ต้องไปที่ศาลอีกต่อไป อยู่สำนักงานก็สามารถส่งข้อมูลไปได้
ตรงนี้สำคัญต้องเรียนรู้โดยเฉพาะทนาย หรือที่ปรึกษากฎหมาย
ผศ.ดร.สมหมาย คณบดีนิติศาสตร์ ม.สยาม กล่าวว่า
เรื่องนี้สำคัญเพราะนักกฎหมายไทยยุค 4.0 นอกเหนือจากเรื่องกฎหมายแล้ว
ต้องรู้เรื่องเทคโนโลยี และเรื่องภาษาต่างประเทศ พร้อมกับต้องคิดปรับปรุงอะไรใหม่
ๆ ให้ทันเหตุการณ์ นอกจากนี้สถาบันการศึกษา
ต้องรับทราบว่าเทรนด์ปัจจุบันตอนนี้ไปทางไหน จำเป็นต้องปรับเรื่องหลักสูตร อาจารย์
เพื่อผลิตบัณฑิตให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ขณะนี้ประเทศไทยมีสถาบันการศึกษาทั้งหมด 74
แห่งที่เปิดสอนวิชาเกี่ยวกับนิติศาสตร์ ถ้าไม่ปรับตัวอาจเกิดปัญหาทางการแข่งขัน
เท่าที่ทราบตอนนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ม.ธรรมศาสตร์ ปรับตัวไปพอสมควรแล้ว
ผศ.ดร.สมหมาย กล่าวอีกว่า
การปรับตัวของสถาบันการศึกษา และวิชานิติศาสตร์ คือ การคิดนอกกรอบ
นำหลักสูตรไปใช้ในเชิงธุรกิจ หรือด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น แต่คำถามจากผู้ปกครองนิสิตนักศึกษาปัจจุบันคือ
ถ้าเรียนวิชานี้แล้วจะได้เป็นอัยการ ได้เป็นผู้พิพากษาหรือไม่
ตรงนี้อาจารย์ต้องมีความกล้าหาญบอกว่า การเรียนนิติศาสตร์ไม่ได้มีทางเลือกแค่นี้
แต่มีหลักสูตรใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมด้วย เช่น
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีอากร นักกฏหมายเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี
หรือที่ปรึกษากฎหมายก็ได้ ถ้าสถาบันการศึกษาไทยปรับตัวเรื่องนี้ได้
นักกฎหมายไทยยุค 4.0 พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้แน่นอน
“นอกจากจะปรับตัวให้เป็นไปตามยุค 4.0 แล้ว เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพของนักกฎหมายยังจำเป็นต้องมีอยู่ด้วย
และจะทำอย่างไรให้สถาบันการศึกษาสร้างนิสิตนักศึกษาให้มีคุณธรรมอย่างแท้จริง
เพราะถ้าขาดสิ่งนี้ไป เป็นภัยต่อสังคมมาก ๆ” ผศ.ดร.สมหมาย กล่าว
นายธนารักษ์ ผู้พิพากษา กล่าวว่า
นักกฎหมายกับนักไอทีเหมือนอยู่กันคนละโลก แต่ในเมื่อเป็นยุค 4.0 ที่เทคโนโลยีจะมาแทนทุกสิ่ง จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งในเรื่องนี้
ก่อนหน้านี้ตนทราบข้อมูลว่าไทยถูกจัดอันดับการลงทุนโดยธนาคารโลก
มีข้อหนึ่งที่ใช้เป็นหลักเกณฑ์คือ
ศาลได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คู่ความในการเข้าถึงความยุติธรรมหรือไม่
ซึ่งตรงนี้ไทยได้ศูนย์คะแนนมาหลายปีมาก เพราะการพิจารณาคดีของศาล และทางธุรการ
แทบไม่ได้นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยในการทำงาน
และการพัฒนาระบบดิจิตอลก็ต่างคนต่างทำ และระเบียบปฏิบัติของศาลไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร จึงเป็นโจทย์ยากในการนำเทคโนโลยีมาใช้
นายธนารักษ์ กล่าวอีกว่า
ภายหลังตนได้เป็นผู้พิพากษา และเป็นหนึ่งในคณะทำงานของนายวีระพล ตั้งสุวรรณ
ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ได้นำเทคโนโลยีของศาลต่างประเทศที่เคยไปเรียนรู้มาปรับใช้ภายในไทย
เพื่อให้ศาลไทยเป็น e-Court เหมือนต่างประเทศได้หรือไม่
เบื้องต้นขณะนี้ไทยมีระบบยื่นฟ้อง ประทับรับฟ้อง การยืนยันตัวตน
และการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และกำลังรวบรวมฐานข้อมูล (Big Data) เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าค้นข้อมูลคดี หรือดำเนินกระบวนการฟ้องได้ง่ายมากยิ่งขึ้นด้วย
เบื้องต้นศาลยุติธรรมนำร่องระบบนี้อย่างเป็นทางการแล้ว 2 ศาล
ได้แก่ ศาลแพ่งธนบุรี และศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และเตรียมขยายผลไปยังศาลยุติธรรมต่าง ๆ
ทั่วประเทศ
“สาเหตุที่นำร่องที่ 2 ศาลแพ่งดังกล่าวก่อน
เนื่องจากคดีเกี่ยวกับธนาคาร ต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่า
ขนาดธนาคารที่ต้องใช้เอกสารสำคัญทางคดี ยังกล้าดำเนินการผ่านทางระบบ e-Court
นั่นแสดงถึงความเชื่อมั่นว่า
ระบบนี้ปลอดภัยและไม่มีข้อมูลสำคัญหลุดออกไปภายนอกแน่นอน” นายธนารักษ์ กล่าว
นายธนารักษ์ กล่าวว่า ระบบ e-Court จะเป็นระบบที่มองผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายศาล และฝ่ายคู่ความ
โดยเฉพาะฝ่ายคู่ความ หรือทนายความจะได้ประโยชน์ของระบบนี้มาก
ทั้งนี้ในการกำกับดูแล e-Court จะมีสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เข้ามาช่วยดูว่า
ระบบตรงไหนติดขัดอะไร ตรงไหนควรปรับปรุงอะไร
และดำเนินการให้สอดคล้องกับระเบียบหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อออกเป็นข้อกำหนดของศาลภายหลังได้
นายธนารักษ์ กล่าวด้วยว่า
ปัจจุบันกฎหมายไทยได้ปรับปรุงให้ศาลสามารถสืบพยาน
หรือไต่สวนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว
โดยเฉพาะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์
ที่เปิดให้มีการสืบพยานทางระบบดิจิตอลได้
และจัดทำสารบบคำพิพากษาสำนวนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการยื่นฟ้อง
และการจัดเก็บสำนวนสามารถทำได้ในระบบนี้ทั้งหมด โดยศาลต้องออกเป็นข้อกำหนด
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา
กล่าวว่า สำหรับโร้ดแม็พของศาลยุติธรรมที่วางไว้
ต่อไปคือจะเพิ่มระบบอิเล็กทรอนิกส์ในห้องพิจารณาคดี โดยมีระบบ Big Data เข้าไปช่วย เช่น ผู้พิพากษาไม่ต้องขนสำนวนมาเป็นแฟ้ม แต่ถือมาแค่แฟรชไดรฟ์
หรือแล็ปท็อปมาเครื่องเดียวจบ หรือการบันทึกการพิจารณาคดี
จากเดิมใช้กล้องตั้งไว้เฉย ๆ เวลาจะดูซ้ำต้องกรอไปมา
แต่คราวนี้จะบันทึกแบบแยกระบบภาพ และเสียง มีการบันทึกแบบหลายมิติ
หากอยากจะดูข้อมูลตรงพยานปากนี้ สามารถกดเข้าไปได้เลย ไม่ต้องกรอไปมาเหมือนเดิม
เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะเพิ่มห้องพิจารณาคดีแบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ด้วย
ใช้วิธีสืบพยานทางไกลผ่านจอภาพ ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
รวมถึงระบบการบริหารจัดการคดีที่จะเป็นไฟล์ดิจิตอลทั้งหมด สำหรับความคืบหน้าของระบบใหม่นี้
อยู่ระหว่างเขียนขอบเขตร่างของงาน (TOR) และหาผู้รับจ้างมาดำเนินการ
“คนใดเป็นเจ้าของข้อมูล คนนั้นเป็นผู้ครองโลก
ศาลมีข้อมูลเยอะ แต่ไม่เคยเอาข้อมูลมารวมกันเป็น Big Data แต่ตอนนี้กำลังดำเนินการระบบนี้อยู่
ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบันเคยส่งคนไปดูงานที่เมืองจีน เพราะตอนแรกจีนล้าหลังมาก
แต่ตอนหลังเขาทำ Big Data ได้เข้มแข็งมาก
ดังนั้นของไทยต่อไปจะบูรณาการเชื่อมโยงระบบข้อมูลทั้งหมดไว้ด้วยกัน” นายธนารักษ์
กล่าว
นายสัตยะพล อาจารย์นิติฯ มธ.กล่าวว่า
ปัจจุบันโลกหมุนเร็วมาก ยุคทนายความที่ใส่ครุยเก่า ๆ มีความเก๋า มันไม่ใช่อีกต่อไป
แต่ตอนนี้เป็นนยุค 4.0 นักกฎหมายถูกกำหนดด้วยเทคโนโลยี
ศาลยุติธรรมมีการใช้ระบบ e-Court หรือระบบ e-Filling แล้ว อย่างไรก็ดีต้องถามกลับไปยังศาลว่า พร้อมกับระบบนี้จริงหรือไม่
เพราะสิ่งที่ต้องระวังคือ Cyber Security ศาลจะทำอย่างไรที่จะเก็บรักษาข้อมูลต่าง
ๆ เหล่านี้ไว้อย่างเป็นความลับ และไม่สุ่มเสี่ยงถูกแฮ็กข้อมูล
ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของนักกฎหมาย 4.0 ต้องระวังเรื่องนี้เป็นหลักก่อน
นอกจากนี้นักกฎหมายต้องทำความเข้าใจ ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยี
และระบบดิจิตอลให้มากขึ้น
เชื่อว่าในอนาคตจะมีกรณีผู้เสียหายที่เกิดจากการแฮ็กข้อมูลเพิ่มขึ้น
ถ้านักกฎหมายศึกษาและมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้แบบลึก และช่วยเยียวยา หาตัวผู้กระทำผิดให้กับผู้เสียหายได้
คงไม่ตกงาน
นายสัตยะพล กล่าวอีกว่า
นักกฎหมายต้องปรับตัวนอกเหนือจากความรู้พื้นฐานแล้ว
ต้องพัฒนาไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วย นั่นคือเทรนด์ในโลกอนาคต หมดยุคนักกฎหมาย
หรือที่ปรึกษากฎหมายแบบธรรมดาแล้ว ที่ปรึกษากฏหมายหลังจากนี้จะต้องลึกซึ้ง
ไม่ใช่ให้ความเห็นแบบทั่วไป ต้องเป็นเหมือนผู้เข้ามากำหนด
หรือช่วยคิดแผนงานด้านกฎหมายด้วย ต้องลึกมากกว่าการสืบค้นที่มีในอินเทอร์เน็ต
ต้องเรียนรู้นอกเหนือตำรากฎหมาย ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ
การเมือง และตอบโจทย์ลูกความให้ดีที่สุด
ต่อไปจะทำงานประเภทตั้งสำนักงานนั่งให้คำปรึกษาอยู่ออฟฟิศ
หรือไปลุยงานระหว่างประเทศได้
เพราะเทรนด์ปัจจุบันนิสิตนักศึกษาเริ่มสนใจอยากเป็นที่ปรึกษากฎหมายมากขึ้น
นอกเหนือจากการเป็นผู้พิพากษา หรืออัยการ
นายสัตยะพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้สถาบันต่าง ๆ
ที่สอนหลักสูตรนิติศาสตร์ ควรเพิ่มวิชาภาษาอังกฤษเป็นวิชาหลัก
เพราะสำคัญมากกับโลกในปัจจุบัน และอนาคต
รวมถึงต้องสัมมนาหลักสูตรตัวเองเพื่อรองรับระบบดิจิตอลด้วย จะใช้ระบบเก่า ๆ
หรือวิชาเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว ที่สำคัญควรผลักวิชาสำคัญ ๆ
ที่จำเป็นกับการใช้ในวิชาชีพมาเป็นวิชาหลัก
และให้วิชาที่ไม่ได้ประเทืองสติอะไรมากนักเป็นวิชาเลือกแทน
ขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญกับการฝึกงานของนิสิตนักศึกษา
โดยให้นิสิตนักศึกษาไปฝึกงานตามสำนักงาน หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพมากขึ้น
โดยพัฒนามาเป็นวิชาที่มีหน่วยกิต ปัจจุบัน ม.ธรรมศาสตร์ เริ่มทำแบบนี้แล้ว
ปีการศึกษาหน้านักศึกษาปี 4 ต้องไปฝึกงาน
นับเป็นสิ่งที่ดีในการรองรับนิสิตนักศึกษาเพื่อให้เห็นกระบวนการทำงานของวงการกฏหมาย
รวมถึงควรส่งเสริมให้พบกับศิษย์เก่า หรือคนที่อยู่ในวิชาชีพ เพื่อมาเล่าประสบการณ์ความรู้ความเข้าใจของงาน
เปิดกว้างความคิดว่า ไม่ใช่มีแต่อาชีพผู้พิพากษา หรืออัยการเพียงอย่างเดียว.-สำนักข่าวไทย