กรุงเทพฯ 21 ธ.ค. – เครือข่ายลดอุบัติเหตุ ชวนรณรงค์สร้างความปลอดภัยทางถนน ปีใหม่ 2567 “ดื่มไม่ขับ” ลดความเสี่ยง สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ 2567 คาดว่ามีปริมาถรถมากขึ้นกว่าปกติหลายเท่าตัว ส่งผลให้จราจรติดขัด เนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน มีการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เฉลิมฉลองยาวนาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ภายใต้การรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยทาง สคอ. และ สสส.ได้ร่วมสื่อสารประชาสัมพันธ์ เน้นย้ำเรื่อง “ยิ่งดื่มนาน สมองยิ่งเสี่ยง ดื่มไม่ขับ” สร้างความตระหนักในการขับขี่ปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ สถิติอุบัติทางถนนจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) รายงานว่า ปีใหม่ 2566 ตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2564– 4 ม.ค.2566 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,440 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 317 ราย ผู้บาดเจ็บ 2,437 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับเร็ว 37.5% ดื่มแล้วขับ 25.49% ตัดหน้ากระชั้นชิด 18.69% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ 82.11% รถกระบะ 5.56% รถเก๋ง 3.24%
นายพรหมมินทร์ กล่าวต่อว่า ปีใหม่นี้ สคอ.ได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ และรณรงค์สร้างความรู้ ความตระหนักแก่ประชาชนผู้ขับขี่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเทศกาล และช่วงเทศกาล โดยผลิตสื่อฯ และชุดข้อมูลการเฝ้าระวังป้องกัน ลดอุบัติเหตุทางถนน สนับสนุนภาคีเครือข่ายทั้งรัฐ และเอกชน กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นกรอบ และแนวทางทำงานในพื้นที่ตามนโยบาย ศปถ. อีกทั้งเทศกาลปีใหม่นี้ได้วางแผนลงพื้นที่ติดตามกรณีอุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยใช้ข้อมูลจาก ศปถ.ที่รายงานการเกิดอุบัติเหตุรายวัน จัดทำเป็นคลิปวิดีโอสะท้อนผลกระทบ ปัญหา สาเหตุ และข้อเสนอแนวทางแก้ไขขับเคลื่อนในระดับนโยบาย สู่การปฏิบัติให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในอนาคต สิ่งที่น่ากังวลคือความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น จากการอนุญาตให้เปิดสถานบริการได้ถึงตี 4 การดื่มนานถึงผับเลิก ขับรถกลับบ้าน ต้องระวังอาการ ตาเบลอ มองไม่เห็นคนข้ามถนน สมองสั่งการเบรกไม่ทัน ตัดสินใจผิดพลาด ง่วงซึม หลับใน จึงขอให้ผู้เกี่ยวข้องยึดมั่นในเงื่อนไขตามกฎกระทรวงมหาดไทย และนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามขายคนอายุต่ำกว่า 20 ปี- คนเมา ตรวจแอลกอฮอล์คนขับก่อนกลับ หากเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จัดที่พักคอย หากไม่รอให้ติดต่อเพื่อน หรือญาติพากลับ หรือจัดหารถส่งลูกค้า จะช่วยลดผลกระทบความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนได้. -411-สำนักข่าวไทย