รัฐสภา 18 ธ.ค.- รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน ตั้งเป้าปี 2570 ลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 8,474 รายต่อปี ชี้ มีจุดอ่อนในการบังคับใช้ กม.-ไรเดอร์ ดูมือถือตอนขับขี่ สวนทางข้อ กม. พร้อมขอทุกภาคส่วนบูรณาการไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดงาน “รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน” ครั้งที่ 2 โดยมีพลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง ,ผู้แทนองค์การอมามัยโลก ประจำประเทศไทย , กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีเครือข่าย เข้าร่วม
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ ว่า ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นความท้าทายต่อชีวิต ซึ่งเรามีแผนแม่บทฉบับที่ 5 (ปี 2565-2570) กำหนดเป้าหมายลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางท้องถนนให้เหลือ 12 คน ต่อประชากร 100,000 คน หรือ 8,474 รายต่อปี ภายในปี 2570 จึงต้องพยายามรณรงค์ไปสู่เป้าหมายให้อุบัติเหตุลดลง
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน และอนุกรรมการอีก 4 ด้าน จะเป็นหลักในการดำเนินการอย่างเข้มแข็ง เพราะถ้าไม่มีการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะทั้ง งบประมาณ กฎหมาย และการบังคับใช้ สถิติการเกิดอุบัติเหตุก็จะยังคงอยู่ ซึ่งส่งผลต่อจีดีพีของประเทศ เพราะคนในวัยทำงาน หัวหน้าครอบครัวต้องบาดเจ็บและเสียชีวิต หลายเหตุการณ์ เช่น กรณีหมอกระต่าย และ รถบัสเด็กนักเรียนที่เกิดเหตุไฟไหม้ ทำให้เราจะต้องมีความเข้มงวดเพื่อลดความสูญเสีย
พลเอกเกรียงไกร กล่าวว่า อุบัติเหตุส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนมาอย่างยาวนาน ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตในปี 2566 อยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ซึ่งสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย การสูญเสียเกิดขึ้นมากในกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต ดังนั้น ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคนิติบัญญัติ รัฐสภา ซึ่งมีส่วนในการบัญญัติกฎหมาย เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินการ
ด้านผู้แทนองค์การอมามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกยืนหยัดเคียงข้างประเทศไทย ซึ่งความไม่ปลอดภัยทางถนน ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะชีวิตและทรัพย์สิน แต่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม ซึ่งข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าเราอาจไปไม่ถึงเป้าหมายได้ หากไม่เร่งมือป้องกันการสูญเสีย เช่น การใช้รถจักรยานยนต์ ที่หลายคนมองเป็นการประหยัดและรวดเร็ว แต่ทำให้เกิดความสูญเสียจำนวนมาก รัฐสภามีหน้าที่สำคัญ มีศักยภาพและเครื่องมือในการขับเคลื่อน เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องของข้อกฎหมาย การจัดทำงบประมาณ การกำกับดูแลและการสนับสนุน ซึ่งการจัดตั้งคณะกรรมการ และอนุกรรมการ ถือเป็นความก้าวหน้าในประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นแนวทางที่ครอบคลุม แสดงให้เห็นถึงความหวังในการผนึกกำลังของทุกหน่วยงาน เพื่อจัดการความปลอดภัยทางถนนแบบองค์รวม
นอกจากนี้ ภายในงาน มีเวทีเสวนา “รัฐสภาไทย…สานพลังเพื่อความปลอดภัยทางถนน” โดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวว่า อนุกรรมการมีบทบาทดำเนินการ และจัดทำข้อกฎหมาย เพื่อนำเสนอความเห็น โดยข้อเสนอเชิงนโยบายในการลดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ พบว่าประเด็นปัญหาที่สำคัญ เรื่องการบังคับใช้กฎหมายยังมีจุดอ่อน และจะต้องยกระดับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง ผลักดันแนวทางปฎิบัติให้กฎหมายเมาแล้วขับ สามารถปฏิบัติให้เกิดผลตามเจตนารมย์ของกฎหมายได้ ทั้งนี้ ต้องมีบทลงโทษผู้สนับสนุนให้เด็ก เยาวชนดื่มสุรา อีกทั้งเห็นว่า ต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการดูแลความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะ กล่าวว่า สาเหตุหลักของอุบัติเหตุ มาจาก คน ถนน และยานพาหนะ ซึ่งการแก้ปัญหายังไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะติดกับ วิธีการบริหารจัดการ และหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการจัดการปัญหานี้ ได้บูรณาการงานร่วมกันแล้วหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่าง การฝ่าฝืนกฎหมายจราจร ที่พนักงานขนส่งในแอพพลิเคชั่นต่างๆ ดูโทรศัพท์มือถือในขณะขับขี่ เพื่อดูเส้นทาง ซึ่งสวนทางกับตัวบทกฎหมาย ที่ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับขี่.-315 -สำนักข่าวไทย