กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – สบส. และ สพฉ. ลงพื้นที่สอบข้อเท็จจริงโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านพัฒนาการ หลังมีกระแสข่าวปฏิเสธรักษาชาวไต้หวันถูกรถเฉี่ยวชนล่าช้าทำให้เสียชีวิต พบมีมูลจริงบางส่วน
นายชาตรี พินใย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) พร้อมด้วยนายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ พ.ต.ท.ปริญญา ศรีบุญสม ผอ.กลุ่มกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เข้าสอบเท็จจริงผู้ที่เกี่ยวข้องที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังย่านพัฒนาการ หลังพบมีมูลในการปฏิเสธรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บชายชาวไต้หวัน จนเป็นเหตุให้การรักษาล่าช้า ซึ่งผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงเวลา 01.50 น. ของวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา
นายไพศาล ก้อนจำปา ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดเผยว่า การสอบข้อเท็จจริงวันนี้ ทางโรงพยาบาลให้ความร่วมมืออย่างดี แต่พบว่ายังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่สอดคล้องกับพยานหลักฐานที่พบและสอบถามไปก่อนหน้านี้
พ.ต.ท.ปริญญา ศรีบุญสม ผอ.กลุ่มกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลไปแล้ว 3 คน เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์เอราวัณ 1 คน และเจ้าหน้าที่ในที่เกิดเหตุ 2 คน โดยช่วงเวลาจากที่เกิดเหตุไปถึงโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 2 นาที จากนั้นมีการถกเถียงกันหน้าโรงพยาบาลประมาณ 3 นาที ตามคลิปวิดีโอ ก่อนจะส่งตัวไปโรงพยาบาลสิรินธร
สำหรับประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับพยานหลักฐานบางส่วน เช่น การสื่อสารที่เข้าใจไม่ตรงกัน เหตุผลที่ไม่ตรงกัน ซึ่งทางโรงพยาบาลมีการอ้างถึงเรื่องทรัพยากรไม่เพียงพอ ซึ่งต่างฝ่ายต่างยืนยันข้อเท็จจริงด้วยเทปบันทึกเสียง
นายชาตรี พินใย ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยว่า ขณะนี้พยานหลักฐาน พยานบุคคล ภาพถ่าย ได้ครบหมดแล้ว จากการตรวจสอบพบหลักฐานบางส่วนว่ามีมูลจริง จึงให้โรงพยาบาลชี้แจงเพื่อความเป็นธรรม อยากให้กรณีนี้เป็นตัวอย่าง ห้ามโรงพยาบาลปฏิเสธคนไข้ในทุกกรณี ต้องช่วยชีวิตเบื้องต้นก่อน ต้องปฏิบัติตามหลักการเบื้องต้นที่ สพฉ. กำหนดไว้ ในการช่วยผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินก่อน ต้องช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ก่อน
หลังจากนี้ทาง สบส. จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการรับเรื่องร้องเรียนพิจารณากรณีนี้ในสัปดาห์หน้า ส่วน สพฉ. จะมีการตั้งคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน พิจารณาช่วงปลายเดือนธันวาคม หากมีความผิดจริงจะมีโทษ 2 ส่วน คือ โทษตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 36 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาล ต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในส่วนของ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 จะเป็นโทษทางปกครอง มีโทษปรับ 100,000 บาท
ทั้งนี้ สำหรับเคสนี้ ทาง สบส. และ สพฉ. บอกว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ตามข้อบ่งชี้ผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากผู้ป่วยหมดสติ (และมีการหยุดหายใจ) และทุกสถานพยาบาลไม่สามารถปฏิเสธได้.-416-สำนักข่าวไทย