นนทบุรี 11 ธ.ค.- กรมพัฒนาธุรกิจฯ ก.ท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. พร้อมจับมือ ดัน ‘อาหารไทย Thai SELECT’ เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) ประเทศ ดึงคนในท้องถิ่นร่วมเชื่อมโยงธุรกิจตามแนวเส้นทางท่องเที่ยว และยังเดินหน้านำ Thai SELECT และสินค้าชุมชน ‘Smart Local’ เป็นไฮไลท์สร้างความประทับใจ ดึงรายได้เข้าชุมชน เพิ่มพันธมิตรการค้า กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของรัฐบาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ภายใต้ ‘ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ’ ร่วมกับ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ร่วมกันผลักดันใช้ Soft Power ของประเทศเป็นเครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงเตรียมที่จะร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากโครงการอาหารไทย Thai SELECT และสินค้าชุมชน (Smart Local) ซึ่งเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) อย่างหนึ่ง ในการเพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผ่านอาหาร วัฒนธรรม ประเพณี สถานที่ท่องเที่ยว ตลอดจนสินค้าชุมชนหลากหลายประเภท ทำให้เกิดการจดจำและพร้อมเผยแพร่ต่อให้กับญาติพี่น้องและเพื่อนของตน
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นเห็นร่วมกันว่าจะผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power ของประเทศ โดยในส่วนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีร้านอาหาร ‘Thai SELECT’ อยู่ทั่วประเทศ 370 ร้าน ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการคัดเลือกว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานของอาหารไทย ทันสมัย มีเสน่ห์คงความเป็นเอกลักษณ์ไทย มีอัตลักษณ์ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ร้านตกแต่งสวยงาม บริการเป็นเลิศ และสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้มาตรฐานมีคุณภาพดีของ Smart Local อยู่ทั่วประเทศ โดยจะร่วมมือกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ และททท.ประชาสัมพันธ์ร่วมกับเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสร้างความประทับใจและขยายการตลาด การเข้าถึงของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยอาหารไทยเป็นที่รู้จัก ได้รับความนิยม และเป็นที่ชื่นชอบจากคนทั่วโลกอยู่แล้ว เป็นต้นทุนทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็งของไทย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว รสชาติที่หลากหลาย ความสวยงาม และความอร่อยที่เป็นจุดเด่นสำคัญ ส่งผลให้อาหารไทยเป็น Soft Power ลำดับ 1 ของประเทศ และไม่ยากที่จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวรู้จัก/ลิ้มลองรสชาติอาหารไทยเพิ่มขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศ สร้างความจดจำ พร้อมใช้จ่ายเงินเพื่อให้เข้าถึงอาหารไทยและผลิตภัณฑ์ของเด่นของดีในชุมชน และส่งต่อความพิเศษ Soft Power ไทย ผ่านเรื่องราว เรื่องเล่า และประสบการณ์ร่วมที่น่าประทับใจ
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันอาหารไทยเป็น Soft Power ที่ครองใจนักท่องเที่ยว โดยเร่งผลักดันร้านอาหารไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ของกรมฯ สร้างโอกาสทางการตลาด ภายใต้สโลแกน ‘อาหารไทย ต้อง Thai SELECT’ และเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยว โดยมุ่งหวังให้ร้าน Thai SELECT เป็นหนึ่งใน Soft Power ที่คนทั่วโลกต้องการเดินทางมาลิ้มลอง ขับเคลื่อนให้เกิดกระแสนิยมบริโภคอาหารไทย และเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้ดังไกลไปทั่วโลก โดยได้เตรียมจัดกิจกรรม ได้แก่
1) แคมเปญส่งเสริมการตลาดร่วมกัน เช่น การส่งเสริมร้านอาหาร Thai SELECT ผ่านแคมเปญ ‘เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลัง Soft Power อาหารไทย การเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวกับสินค้าชุมชน (Smart Local) และธุรกิจในพื้นที่ ทั้งการบูรณาการส่งเสริมการตลาดเชิงพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์ภูมิปัญญาชุมชน และเพิ่มคุณค่าของประสบการณ์ร่วม
2) กิจกรรมร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในแต่ละท้องถิ่น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าไป ณ ชุมชนมากขึ้น และจัดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนของชุมชน ประชาสัมพันธ์แนะนำแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก (Homestay) คู่กับสินค้าชุมชน (DBD Smart Local/ Digital Village) และร้านอาหารพื้นถิ่น (Thai SELECT) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน สร้างโอกาสทางการค้าให้ผลิตภัณฑ์ชุมชน (Smart Local) เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
3) เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในทุกๆ วัน ที่จะช่วยส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ร้านอาหารไทย Thai SELECT ในพื้นที่ ผ่านกิจกรรม ‘ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เพื่อสร้างจุดเด่นและความแตกต่าง รวมทั้ง จัดทำเส้นทางท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรองร้านอาหาร Thai SELECT ในทุกภูมิภาค เช่น ภาคเหนือ : เชียงใหม่ เชียงราย น่าน พิษณุโลก นครสวรรค์ ภาคกลาง : พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : นครราชสีมา บุรีรัมย์ หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก : ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว นครนายก ภาคใต้ : สุราษฎร์ธานี พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง ยะลา ทั้งนี้ 3 หน่วยงาน เตรียมร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงรุกและเร่งดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต่อไป.-514-สำนักข่าวไทย