กรุงเทพฯ 9 ธ.ค.-อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจงกรณี “บริบูรณ์-ไทกร” กล่าวหาถูกเจ้าหน้าที่กลั่นแกล้ง ไม่ออกใบอนุญาตนำผ่านซากเนื้อและชิ้นส่วนสุกรไปประเทศที่สาม ยืนยันปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต พร้อมนำหลักฐานเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนการทำลายซากสินค้าของกลางเป็นไปตามระเบียบ
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยถึงกรณีที่นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ศิขันทิน จำกัด และบริษัทสมายล์ ท็อปเค จำกัด ซึ่งเป็น 2 บริษัทล่าสุดในคดีพิเศษที่ 59/2566 ได้เข้าพบคณะพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์กลั่นแกล้งไม่ออกใบอนุญาตนำผ่านซากชิ้นส่วนสุกรไปประเทศที่สาม รวมทั้งได้ทำหนังสือร้องเรียนและยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง นอกจากนี้แล้ว นายไทกร พลสุวรรณ ได้สื่อสารผ่านทาง Social Media หลายครั้ง กล่าวหาเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์กลั่นแกล้งไม่ยอมออกใบอนุญาตนำผ่านให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง นั้น
กรมปศุสัตว์ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งให้บริษัทดังกล่าวได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งในเบื้องต้นกรมปศุสัตว์ขอสรุปลำดับเหตุการณ์ ดังนี้
1. ในปี 2565 ระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม สินค้าซากสุกร ของบริษัท ศิขัณทิน จำกัด และบริษัท สมายด์ ท็อปเค เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ได้ขนส่งทางเรือเข้ามาในราชอาณาจักรที่ท่าเรือแหลมฉบัง สินค้าซากสุกรทั้ง 2 บริษัท ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้า/นำผ่านสินค้ากับกรมปศุสัตว์ และไม่มีเอกสารที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้า มาแสดงต่อกรมศุลกากรภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการไม่ผ่านพิธีการศุลกากร ส่งผลให้สินค้าดังกล่าวถูกยึดตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 (หรือที่เรียกว่า บัญชี List F)
2. ต่อมาปี 2566 เดือนเมษายน – พฤษภาคม นายบริบูรณ์ ลออปักษิณ เจ้าของทั้ง 2 บริษัท ได้มายื่นคำขออนุญาตนำเข้า/นำผ่านซากเนื้อและชิ้นส่วนสุกร ต่อด่านกักกันสัตว์ชลบุรี กรมปศุสัตว์ โดยยื่นคำขอมาที่ระบบเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Movement) กองสารวัตรและกักกันได้ตรวจสอบคำขอแล้ว พบว่าเอกสารและการกระทำดังกล่าวไม่เป็นไปตามระเบียบของกรมปศุสัตว์ ในการอนุญาตนำเข้า/นำผ่าน ซากสัตว์ เนื่องจากสินค้าตกเป็นของแผ่นดินแล้ว รวมถึงเอกสารและขั้นตอนการดำเนินการ ไม่ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ของกรมปศุสัตว์ กองสารวัตรและกักกันจึงไม่อนุญาตให้นำเข้า/นำผ่าน สินค้าซากสุกร
3. เดือนมกราคม 2566 นายบริบูรณ์ ลออปักษิณได้ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 จังหวัดระยอง โดยกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในหน้าที่ โดยไม่อนุญาตให้นำเข้านำผ่านสินค้าซากสุกร ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตน และต่อมาศาล ฯ มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้อง
4. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 บริษัท ศิขัณทิน จำกัดได้ยื่นฟ้องกรมปศุสัตว์ต่อศาลปกครองกลาง เรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 243.9 ล้านบาท และขอทุเลาการบังคับมิให้ทำลายสินค้าซากสุกร ซึ่งศาลปกครองพิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งไม่ทุเลาการทำลายซากสินค้าสุกรตามที่บริษัทฯ ร้องขอ โดยกรมปศุสัตว์ได้ทำลายซากสุกรทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์พร้อมจะนำพยานหลักฐานและเอกสารต่างๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตตามระเบียบและกฎหมาย และสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ได้. – สำนักข่าวไทย