นนทบุรี 3 ธ.ค.-“ภูมิธรรม” รมว.พาณิชย์ พร้อม รมช.พาณิชย์ เน้นย้ำข้าราชการกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำงานให้บริการประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ลดขั้นตอน ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น สานต่อนโยบายรัฐบาลเชื่อมโยงภารกิจกรมฯ สอดคล้องแนวโน้มการประกอบธุรกิจประชาคมโลก
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังติดตามการดำเนินงานควิกวินของรัฐบาล และมอบนโยบายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ว่า “ได้เดินทางมากรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารกระทรวงเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานนโยบายควิกวิน หรือ แผนปฏิบัติงานเร่งรัดของรัฐบาล พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติราชการแก่ผู้บริหารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยนับตั้งแต่วันที่รัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ได้กำหนดนโยบายที่หน่วยงานภาครัฐต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้บรรลุเป้าหมายระยะสั้นตามที่กำหนด
ทั้งนี้ นโยบายควิกวินของกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกอบด้วย 1) ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส 2) บริหารให้เกิดความสมดุล ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ และ 3) การอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รายงานความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนที่สอดคล้องกับภารกิจกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการจดทะเบียนและให้บริการข้อมูลธุรกิจ ให้ความสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชนด้วยบริการที่ ‘สะดวก ถูกต้อง รวดเร็ว’ ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถนำข้อมูลธุรกิจไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นำไปต่อยอดสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง ลดขั้นตอนการดำเนินงาน ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน
การพัฒนาบริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบให้ครบทุกกระบวนงาน (Digital 100%) เช่น ระบบจดทะเบียนบริษัทมหาชน หรือ e-PCL ระบบออกใบอนุญาตและหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ระบบจดทะเบียนสมาคมการค้าและหอการค้า พัฒนาระบบจดทะเบียนธุรกิจ พัฒนาแบบฟอร์มคำขอจดทะเบียนนิติบุคคล ในรูปแบบ e-Form รวมขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับกรมสรรพากร เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคล ในการขออนุมัติ อนุญาตจากส่วนราชการ โดยปัจจุบันได้เชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลของกรมฯ กับหน่วยงานต่างๆ แล้ว 165 หน่วยงาน และได้เร่งทำความเข้าใจกับส่วนราชการเพื่อลดภาระภาคธุรกิจ ในการขอข้อมูลนิติบุคคลและสำเนาเอกสารทางทะเบียนเพื่อไปยื่นต่อหน่วยงานต่างๆ ที่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกับกรมฯ รวมทั้ง เพิ่มบริการชุดข้อมูลสนับสนุนการพิสูจน์การยืนยันตัวตนนิติบุคคล (Digital ID) และ ปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค ไม่ทันสมัย และให้รองรับการพัฒนาบริการสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
ด้านส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน เป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มี ‘รายได้ เติบโต และยั่งยืน’ ขยายสัดส่วน GDP ของเอสเอ็มอี จาก 34.6% ในปี 2564 เป็น 40% ในปี 2570 แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 4 ภารกิจ คือ พัฒนาศักยภาพในการปรับตัวของธุรกิจ สร้างความยั่งยืน เตรียมความพร้อมสู่ต่างประเทศ ผลักดันแนวคิด ‘การประกอบธุรกิจด้วยความยั่งยืน’ ส่งเสริมผู้ประกอบการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีในการลดก๊าซเรือนกระจก สอดรับแนวทางการประกอบธุรกิจประชาคมเศรษฐกิจโลก สร้างภาคีความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ ขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับเอสเอ็มอี เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ธุรกิจร้านอาหาร Thai SELECT และสินค้าพื้นถิ่น (OTOP Select) ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ผู้ประกอบการรายใหญ่ และ แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ผลักดันให้เกิด MOU อี-คอมเมิร์ซระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย – จีน สร้างโอกาสทางการค้าและเชื่อมโยงเครือข่ายเอสเอ็มอี * จัดงานแสดงสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด * จับมือสถาบันการเงินส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นการใช้หลักประกันทางธุรกิจ พัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ โดยการจัดอบรม สัมมนา และหลักสูตร e-Learning ต่างๆ
ส่วนด้านกำกับดูแลและสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและเกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ตามภารกิจ 3 ด้าน คือ บูรณาการความร่วมมือสำนักงานบัญชี และสภาวิชาชีพบัญชี เพื่อเพิ่มจำนวนสำนักงานบัญชีคุณภาพ จับมือหน่วยงานพันธมิตร เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินหน้ากำกับดูแล และตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาลการประกอบธุรกิจ ขับเคลื่อนธุรกิจไทยให้มีข้อมูลทางการเงินสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมดำเนินการตามนโยบายควิกวินระยะกลางและระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดธุรกิจเอสเอ็มอีเป้าหมาย คือ เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจบริการสุขภาพและความงาม ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ธุรกิจชุมชน ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก (โชห่วย) และธุรกิจฟู้ดทรัค โดยเร่งดำเนินการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ส่งผลต่อการสร้างรายได้และผลกำไรที่มั่นคง ตามนโยบายควิกวินด้านลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส และการบริหารให้เกิดความสมดุล ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมทั้ง จะดำเนินการประเมินผลความพึงพอใจของผู้ใช้บริการทั้งภาคธุรกิจและประชาชนที่เข้ามาใช้บริการของกรมฯ เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม สนองความต้องการได้อย่างตรงจุด ซึ่งสามารถสะท้อนได้ถึงนโยบายการอำนวยความสะดวกทางการค้าได้เป็นอย่างดี
ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นหน่วยธุรกิจหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้กรมฯ เร่งดำเนินการประกอบด้วย
- ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจที่กรมฯ มีอยู่ในคลังข้อมูลธุรกิจเพื่อให้ภาคธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยต้องมีการอัพเดทข้อมูลธุรกิจให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้ง วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจแต่ละประเภทเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนแก่นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
- ผลักดันให้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวที่กำหนดนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน สอดรับกระแสธุรกิจโลก โดยประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบธุรกิจ ทำให้สามารถดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากสอดคล้องกับแนวโน้มการประกอบธุรกิจของนานาชาติทั้งปัจจุบันและอนาคต
- เสริมสร้างองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ และสร้างความพร้อมสำหรับอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน สร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ รองรับความท้าทายทุกรูปแบบที่กำลังจะเกิดขึ้น ส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือหลักสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการธุรกิจ พร้อมเร่งขจัดอุปสรรคทางการค้าด้านต่างๆ ทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจ การพัฒนาระบบการให้บริการที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้ง ให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนที่เป็นธรรมได้โดยง่ายและสะดวกมากขึ้น โดยอาศัยกลไกกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกด้าน เพื่อให้ภาคธุรกิจเติบโตและเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง สามารถยืนหยัดบนโลกธุรกิจอย่างยาวนานเป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย