กองทัพภาคที่ 1 17 ก.ค.-คกก.ปรองดองฯ เปิดตัวร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อ แนะคนไทยยอมรับผลเลือกตั้ง-ทำตามกฎหมาย นายกฯ สั่งเพิ่มภาคผนวก 15 ข้อ
พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะ 25 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ในการเปิดตัวและชี้แจงร่างสัญญาประชาคม โดยมีประชาชน กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
พล.ท.กู้เกียรติ กล่าวว่า ทราบดีว่าทุกคนมีความตั้งใจและคาดหวังให้คนไทยมีความรัก สามัคคี และปรองดอง เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้า จึงอยากให้ทุกคนยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ไม่ให้เกิดการโต้แย้ง ซึ่งคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองมุ่งเน้นแก้ปัญหาของประชาชน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความสามัคคีปรองดองอย่างยั่งยืน โดยจะมีการเก็บข้อมูลที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์ที่สุด จากนั้นจะกำหนดเป็นฉันทามติของคนในสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกัน
ผู้สื่อข่ารายงานว่า ทั้งนี้มีการเปิดเผยร่างประชาสังคม 10 ข้อ ที่เป็นความเห็นร่วมจากการรับฟังความเห็น 10 เรื่อง รวม 278 ประเด็น ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ – 8 พฤษภาคม 2560 คือ 1.คนไทยทุกคนพึงตระหนักในบทบาท หน้าที่พลเมืองในการสร้างความสามัคคีปรองดอง และยอมรับผลการเลือกตั้ง 2.คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต 3.คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม 4.คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริม การดูแลคุณภาพชีวิต และสาธารณสุข ตลอดจนการศึกษา 6.คนไทยทุกคนพึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฏหมาย 7.คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อ ไม่บิดเบือน 8.คนไทยทุกคนพึงตระหนักถึงกติการะหว่างประเทศ 9.คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน และ 10.คนไทยทุกคนพึงสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ พล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้แทนคณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ชี้แจงถึงการใช้คำว่า “พึง” เพราะสัญญาประชาคมเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งจะทำตามหรือไม่ทำก็ได้ ไม่มีการบังคับ ทั้งนี้หลังตรวจดูร่างสัญญาประชาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงว่าประชาชนจะเข้าใจยาก จึงสั่งให้คณะกรรมการฯ จัดทำภาคผนวกร่างสัญญาประชาคม จำนวน 15 ข้อ เพื่ออธิบายขยายความร่างสัญญาประชาคมทั้ง 10 ข้อข้างต้น และยังเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมืองว่าต้องไม่ใช้อำนาจทางการบริหารเพื่อมุ่งหวังคะแนนเสียง การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องมีกลไกตรวจสอบหรือควบคุมพรรคการเมืองให้มีความรับผิดชอบ นักการเมืองต้องมีจริยธรรมและจรรยาบรรณ นอกจากนี้ต้องตรวจสอบการการทุจริตเชิงนโยบายอย่างจริงจังด้วย รวมถึงปรับปรุงการคัดสรรนักการเมืองที่จะเข้าสู่ระบบอย่างเหมาะสม
สำหรับการเปิดตัวร่างสัญญาประชาคมในวันนี้ (17 ก.ค.) มีการเชิญพรรคการเมือง 71 พรรค กลุ่มการเมือง 2 กลุ่ม และองค์กรต่าง ๆ ประมาณ 400 คน ที่เคยเสนอความเห็นแนวทางสร้างความปรองดองและร่วมประชุมกลุ่มย่อย โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นชป.) ส่งนายจตุพร พรหมพันธุ์ เป็นตัวแทนรับฟัง ขณะที่กลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ส่งนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เป็นตัวแทนรับฟัง ส่วนพรรคการเมืองใหญ่ เช่น พรรคเพื่อไทย มีนายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรค เข้าร่วม สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ให้นายธนา ชีรวินิจ อดีต ส.ส.เป็นตัวแทนรับฟัง
การจัดเวทีสาธารณะชี้แจงร่างสัญญาประชาคม ทั้ง 4 กองทัพภาค จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคม 2560 จากนั้นคณะทำงานจะรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์ ซึ่งต้องผ่านที่ประชุมของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูป ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) พิจารณา โดยตามกรอบเวลาจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคมนี้.-สำนักข่าวไทย