กรุงเทพฯ 3 ก.ย.-โฆษก กห.เผยสัญญาประชาคมฉบับสมบูรณ์อยู่ระหว่างจัดพิมพ์ สรุปย่อสาระสำคัญ ให้ประชาชนจดจำ ทำความเข้าใจ นำสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น
พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การสร้างความปรองดอง เปิดเผยความคืบหน้าเรื่อง “สัญญาประชาคม ว่า ในส่วนตัวเอกสาร ฉบับสมบูรณ์ อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ และจะเผยแพร่ให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวางต่อไป ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับประชาชนได้ง่ายขึ้น คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ฯ ได้สรุปย่อสาระสำคัญในสัญญาประชาคม ให้ประชาชนสามารถจดจำ ทำความเข้าใจและนำสู่การปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ดังนี้
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า “รู้รักสามัคคี” ร่วมกันสร้างสามัคคีปรองดอง ใช้สิทธิเสรีภาพตามกรอบของกฎหมาย ยอมรับความคิดต่าง เข้าใจประชาธิปไตย แก้ไขปัญหาด้วยระบบรัฐสภา “ยึดมั่นศาสตร์พระราชา” ต้องพัฒนาตนเอง นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ประกอบอาชีพสุจริตและมีไมตรีจิตต่อกัน
“ขจัดการทุจริต” ดำเนินชีวิตด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรมและศีลธรรม มีความซื่อสัตย์ ร่วมกันต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ “อนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ” ร่วมแบ่งปันใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม คำนึงถึงความสมดุลและยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกันสนับสนุนดูแล คุณภาพชีวิต ด้านสาธารณสุขและการศึกษาอย่างเท่าเทียม “เคารพกฎหมาย” เชื่อมั่นและต้องปฏิบัติตามกฏหมาย โดยกระบวนการยุติธรรม ต้องทำงานอย่างอิสระเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ
“รู้เท่าทันข่าวสาร” รับรู้ข่าวสารอย่างรอบคอบ ไม่เสนอข้อมูลที่บิดเบือนยั่วยุ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง “ยึดมั่นกติกาสากล” ปฏิบัติตามกฎกติกาสากลระหว่างประเทศ โดยยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ “ร่วมพัฒนาและปฏิรูปประเทศ” รับรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ด้วยพลังประชารัฐ สู่การเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเป็นระบบและครบวงจร. “เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ” เรียนรู้ ร่วมมือและสนับสนุนขับเคลื่อนประเทศ ตามยุทธศาสตร์ชาติที่ร่วมกันกำหนด ให้เป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า ความตระหนักรู้และตื่นตัวต่อปัญหาสังคมที่มากขึ้นของทุกคน ประกอบกับบทเรียนและผลกระทบจากความขัดแย้งอันยาวนานที่ผ่านมา เป็นส่วนสำคัญของที่มาแห่งความพยายามร่วมกัน ที่จะเดินหน้าออกจากความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำทางสังคมในวันนี้ ทั้งนี้ หากดูสาระสำคัญของ “สัญญาประชาคม” ที่ร่วมกันกำหนด จะเห็นว่ามิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเพียงกรอบแนวทางปฏิบัติภายใต้กฎหมาย ที่เคยมีอยู่ในจิตสำนึกอันดีงามของชาวไทยทุกคนทั้งสิ้น ซึ่งอาจถูกบิดบังหรือเลือนลางไปบ้างจากบริบทความขัดแย้งทางสังคมผ่านมา การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญสู่การปฏิรูปประเทศ จึงต้องการพลังแห่งความเชื่อมั่นและไว้วางใจซึ่งกันและกัน ต้องการพลังความร่วมมือและการมีส่วนร่วมกันอย่างมาก ดังนั้นสัญญาประชาคม จึงเป็นสัญญาใจไทยทั้งชาติ ที่กำลังรอคอยความร่วมมือจากทุกคน ตามบทบาทและหน้าที่ที่แตกต่างกันไป ในการนำพาประเทศไทยขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป.-สำนักข่าวไทย