กรุงเทพฯ 13 พ.ย. – เอกชนหนุนเติมเงิน 1 แสนล้าน ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ไม่ห่วงหนี้ประเทศ หากทำให้จีดีพีโตตามเป้า วอนห่วงค่าไฟปีหน้า
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ว่า ที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่า นอกจากโครงการดังกล่าวจะเติมเงินในระบบเศรษฐกิจ รวม 600,000 ล้านบาท ครอบคุลม 50 ล้านคน แล้วยังเติมเงินอีก 100,000 ล้านบาท ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ว่า ภาคเอกชนสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นเรื่องที่ดี การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ จู่ๆ ก็มีตัวเลข 100,000 ล้านบาท ที่เป็นกองทุนเกี่ยวกับเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถเกิดขึ้นมา ซึ่งตนเองคิดว่าเกิดจากการที่รัฐบาลรับฟังความกังวลจากทุกฝ่าย ที่กังวลว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท จะเกิดการกระตุ้นเฉพาะในส่วนของผู้บริโภค แต่ภาคการลงทุนไม่ได้รับการกระตุ้น ดังนั้นจึงมีการแบ่งให้ชัดเจน ซึ่งภาคการลงทุนจะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งก็สอดคล้องกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่กำลังขับเคลื่อนไป และคิดว่าการกระตุ้นครั้งนี้จึงเป็นการผสมผสาน มีการปรับเพื่อให้เกิดความเหมาะสม และตอบโจทย์ที่หลายคนเป็นห่วง
ส่วนการปรับเกณฑ์เงื่อนไขสำหรับผู้มีสิทธิได้รับเงิน 10,000 บาท ตนเองมองว่า เป็นการปรับเพื่อให้เกิดการเดินหน้าได้ เนื่องจากสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ ภาคเอกชนมองว่าจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม และต้องให้มีการหมุนเวียนหลายๆ รอบ ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไป เพราะสัปดาห์ที่แล้วเป็นเพียงการแถลงเงื่อนไข หรือบอกว่าใครจะได้สิทธิ แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องรอความชัดเจนเรื่องของกำหนดเวลาที่จะสามารถใช้จ่ายได้จริง ซึ่งหากสามารถกระตุ้นได้ตามเป้าหมาย เชื่อว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตได้ถึง 5% ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศเอาไว้ เพราะทางแบงก์ชาติก็ได้ออกมาพูดว่า เม็ดเงินที่จะใส่เข้าไปในระบบ อย่างน้อยก็ช่วยให้เศรษฐกิจโตขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ ส่วนเรื่องการกู้เงินมาใช้จ่ายในโครงการ Digital Wallet ภาคเอกชนไม่ได้เป็นห่วง เนื่องจากหากกู้มาแล้วทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นก็คุ้มค่า แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ภาคเอกชนมีความกังวลก็คือ เรื่องค่าไฟฟ้าที่จะปรับขึ้นอีกในปีหน้า ที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมและ กกร.ได้พูดกับภาครัฐไปหมดแล้ว ตนจึงอยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยดูแลปัญหาค่าไฟฟ้าให้กับภาคอุตสาหกรรม ประชาชน และทุกภาคส่วน เพราะค่าไฟฟ้าคือต้นทุน และเป็นปัจจัยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
“หากค่าไฟฟ้าราคาถูก แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ในขณะเดียวกัน ค่าไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งปัจจัยในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนที่เรียกว่า FDI จากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ภาครัฐก็ทราบดีอยู่แล้ว ภาคเอกชนจึงหวังว่าภาครัฐจะช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำลง อย่างตอนที่เป็น 3.99 บาท/หน่วย เราก็ขอบคุณที่ท่านตอบสนองเร็ว แต่ตัวเลขนี้ผมก็เคยให้สัมภาษณ์ไปว่ายังไม่ใช่ราคาสุดท้าย เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม ค่าไฟฟ้าเขาอยู่ที่ 2.70 บาท อินโดนีเซียอยู่ที่ 3.30 บาท เพราะฉะนั้นเราจึงอยากให้รัฐบาลทำให้ค่าไฟฟ้าของเราอยู่ระหว่างเวียดนามกับอินโดนีเซีย เพราะอย่างน้อยก็จะทำให้เราแข่งขันได้ และสามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เขากำลังเลือกอยู่ว่าจะไปลงทุนประเทศไหนดี” นายเกรียงไกร กล่าว. – สำนักข่าวไทย