10 พฤศจิกายน 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอบิดเบือนข้อมูลเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ในต่างประเทศ โดยอ้างว่าสำนักข่าว CNN จงใจสร้างภาพให้สถานการณ์ในอิสราเอลเลวร้ายกว่าที่เป็นจริง ทั้งการจัดฉากให้ผู้สื่อข่าวและทีมงานแกล้งหาที่ซ่อนจากขีปนาวุธ รวมถึงข้ออ้างเรื่องการว่าจ้างให้นักแสดงเด็กแสร้งเป็นเหยื่อสงครามที่พ่อแม่ถูกสังหาร แต่ถูกจับได้เพราะแอบหัวเราะระหว่างถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
บทสรุป :
- คลิปแรกเป็นการตัดต่อเสียงบรรยายมาทำให้เชื่อว่านักข่าวภาคสนามแกล้งหลบระเบิดตามคำสั่งของโปรดิวเซอร์
- คลิปที่สองเป็นการอ้างว่าเด็กที่เผลอกลั้นหัวเราะระหว่างเล่าการสูญเสียพ่อแม่คือนักแสดงที่จ้างมาร้องไห้หน้ากล้อง
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
คลิปวิดีโอตัวแรกนำมาจากรายงานของสำนักข่าว CNN ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมหรือ 2 วันหลังกองกำลังติดอาวุธฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลอย่างฉับพลัน จนเป็นเหตุให้ชาวอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 1,400 ราย
รายงานของ CNN ในวันนั้นคือการสำรวจพื้นที่เกิดเหตุใกล้ชายแดนอิสราเอลและฉนวนกาซา โดย คลาริสซา วอร์ด หัวหน้าผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศของ CNN เป็นผู้รายงาน
ในระหว่างถ่ายทอดสด คลาริสซา วอร์ด ได้ยินเสียงขีปนาวุธยิงมาจากฝั่งกาซาและได้ยินเสียงตอบโต้ของ Iron Dome หรือระบบป้องกันภัยทางอากาศของประเทศอิสราเอล เธอและทีมงานตัดสินใจวิ่งหาที่ซ่อนตัว
แต่คลิปที่มีการแชร์ทางออนไลน์ กลับพบว่ามีเสียงพูดคล้ายโพรดิวเซอร์จากสถานีข่าวคอยบอกบทให้คลาริสซา วอร์ดและทีมงานทำท่าทางตามคำสั่ง เช่น “พยายามมองไปรอบ ๆ และแสดงท่าทางตื่นกลัว” “จับภาพคลาริสซา วอร์ดให้ชัด ๆ” “ช่วยเร่งเสียงระเบิดให้ดังกว่านี้ได้ไหม”
คลิปดังกล่าวสร้างเสียงวิจารณ์ว่า CNN ทำการจัดฉากการหนีระเบิดของนักข่าว และถูกจับได้เพราะโพรดิวเซอร์เผลอบอกบทระหว่างถ่ายทอดสด
แต่เมื่อเทียบกับคลิปต้นฉบับที่โพสต์ทางเว็บไซต์ของ CNN แล้ว กลับไม่พบเสียงบรรยายของโพรดิวเซอร์สถานีข่าวเหมือนคลิปที่ถูกแชร์แต่อย่างใด
โฆษกของ CNN ชี้แจงว่า เสียงที่อยู่ในวิดีโอที่ถูกแชร์เป็นของปลอม เป็นการบิดเบือนการรายงานข่าวของ CNN อย่างไม่ถูกต้องและขาดความรับผิดชอบ ผู้ชมควรตัดสินจากรายงานฉบับเต็มด้วยตนเอง
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker ในต่างประเทศพบว่า คลิปที่ถูกแชร์เป็นผลงานการดัดแปลงโดย The Quartering องค์การสื่อฝั่งอนุรักษ์นิยมของสหรัฐอเมริกา ที่ยอมรับว่าทำการเพิ่มเสียงบรรยายให้ดูเหมือนทีมข่าวกำลังแสดงบทบาทตามที่โพรดิวเซอร์สถานีข่าวเป็นคนกำกับ
แม้ The Quartering จะชี้แจงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในภายหลังว่า คลิปที่ทำออกมามีจุดประสงค์เพื่อการล้อเลียน และเสียงโพรดิวเซอร์ที่อยู่ในคลิปเป็นการบันทึกในภายหลัง แต่ The Quartering เชื่อว่าการแสดงของผู้สื่อข่าวน่าจะเป็นของจริง และ CNN พยายามจัดฉากให้ผู้สื่อข่าวภาคสนามอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตรายมากกว่าความเป็นจริง
อย่างไรก็ดี ไม่พบหลักฐานว่า CNN จัดฉากการรายงานข่าวสงครามแต่อย่างใด
ข้อมูลของคณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists หรือ CPJ) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคมพบว่า ผู้สื่อข่าวที่รายงานสถานการณ์สู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาสเสียชีวิตไปแล้ว 23 ราย มีอีก 8 รายที่ได้รับบาดเจ็บ ส่วน 3 รายหายสาบสูญหรือถูกลักพาตัว
ส่วนคลิปวิดีโอตัวที่สอง นำมาจากการออกอากาศทาง CNN เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม เป็นบทสัมภาษณ์เยาวชน 2 รายที่พ่อและแม่ถูกสังหารโดยกลุ่มฮามาส
คลิปบทสัมภาษณ์บางส่วนที่ถูกแชร์ทางออนไลน์ อ้างว่าเด็กวัยรุ่นทั้งสองแอบหัวเราะระหว่างเล่าเหตุการณ์สูญเสีย จนมีการอ้างว่าเด็กทั้ง 2 คือนักแสดงที่ CNN ว่าจ้างให้มาสวมบทเป็นผู้ประสบเหตุเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการรายงานข่าว
อย่างไรก็ดี ข่าวการสูญเสียพ่อและแม่ของเด็กทั้งสอง ได้รับการรายงานโดยสำนักข่าวต่าง ๆ ทั้ง AP และ ABC News นอกจากนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าเด็กทั้งสองเป็นนักแสดงที่ว่างจ้างให้มาสร้างเรื่องเท็จแต่อย่างใด
ข้อมูลจากเว็บไซต์ Psychologytoday.com วิเคราะห์ว่า การที่ใครสักคนหัวเราะระหว่างถ่ายทอดชะตากรรมอันน่าเศร้า เป็นหนึ่งในกระบวนการป้องกันตัวของเหยื่อโศกนาฏกรรมเพื่อไม่ให้ตนเองดำดิ่งสู่ห้วงแห่งความเศร้ามากไปกว่านี้ ความเสียใจอย่างหนักยังมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการควบคุม นอกจากนี้การยิ้มหรือหัวเราะยังบ่งบอกถึงความรู้สึกอับอายของผู้ที่กำลังเสียใจอย่างรุนแรง
ข้อมูลอ้างอิง :
https://apnews.com/article/fact-check-cnn-israel-gaza-staged-262747104449
https://fullfact.org/news/altered-audio-CNN-border-footage-staged-false/
https://www.factcheck.org/2023/10/posts-use-fabricated-audio-to-misrepresent-cnn-report-during-rocket-attack-in-israel/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/oct/12/viral-image/no-cnn-didnt-stage-an-attack-near-the-israel-hamas/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/oct/23/tiktok-posts/unfounded-claims-about-crisis-actors-amid-israel-h/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter