กทม. 2 พ.ย.-ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง 20 แกนนำพันธมิตร ปิดล้อมอาคารรัฐสภา ขวาง “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” แถลงนโยบาย ชี้ชุมนุมตามสิทธิ
ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี อดีตแกนนำพันธมิตร-แนวร่วมรวม 20 คน เป็นจำเลยในความผิด 5 ข้อหา ฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีการอื่นใดอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฯ, เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยผู้กระทำมีอาวุธ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิกมั่วสุม, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด, ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย
จากกรณีเมื่อวันที่ 5-7 ต.ค.51 จำเลยและกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนหลายพันคน ร่วมมั่วสุมภายในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตั้งเวทีปราศรัย และได้ยุยงปลุกปั่นให้กลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งประเทศไปรวมตัวปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ สส. และ สว. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมสภา โดยวันที่ 7 ต.ค.51 กลางวัน จำเลยกับพวกใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ติดเครื่องขยายเสียงเคลื่อนพร้อมนำลวดหนามชนิดหีบเพลง และแผงกั้นเหล็กยางรถยนต์ผ่านไปลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อขวางบริเวณรอบรัฐสภาทำให้ประชาชนไม่สามารถผ่านไปได้ และปราศรัยปลุกระดมให้ล้อมรัฐสภา เพื่อไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยวันนี้จำเลยทั้ง 20 คน เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยทั้งหมดก่อความวุ่นวาย และชุมนุมไม่ชอบ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเนื่องจากไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลในขณะนั้น ยืนยันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่ชอบ จึงออกมาชุมนุมตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง
ส่วนข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน เบิกความว่าจำเลยทั้งหมด เป็นคนสั่งการให้มวลชนกระทำการวุ่นวาย แต่เห็นว่ามวลชนตอบโต้ตำรวจเนื่องจากโกรธแค้นที่เข้ามาสลายการชุมนุม จำเลย 20 คน จึงไม่มีความผิด ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
ส่วนข้อหาข่มขืนใจผู้อื่นและหน่วงเหนี่ยวกักขัง พยานหลักฐานโจทย์ไม่สามารถเบิกความให้เห็นว่าจำเลยทั้งหมดข่มขืนใจหรือสั่งการใช้ให้ผู้ชุมนุมกระทำการปิดลอมอาคารรัฐสภา แต่เป็นการที่ผู้ชุมนุมทำเองโดยตอบโต้ตำรวจ เพื่อระบายความโกรธแค้น พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งหมด กระทำผิดตามฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายกฟ้อง. -สำนักข่าวไทย
นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา หนึ่งในจำเลยในคดีนี้ ได้เปิดเผยหลังศาลอ่านคำพิพากษาว่า การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เหตุการณ์ความวุ่นวาย ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการที่ตำรวจใช้กำลังและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม โดยที่ผู้ชุมนุมไม่ทันตั้งตัวและไม่ได้เตรียมการมาเพื่อก่อเหตุความรุนแรง ซึ่งก่อนเกิดเหตุนั้นการชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบไม่ได้เกิดความวุ่นวายแต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน คือ ไม่ได้มีการประกาศเตือน เจรจา หรือใช้รถน้ำ
ส่วนทางโจทก์จะมีการยื่นฎีกาต่อหรือไม่นั้น ตนเห็นว่า สองศาลยกฟ้องแล้วคดีควรจะต้องถึงที่สุดแล้ว แต่มีหนึ่งในผู้พิพากษาที่อยู่ในองค์คณะทำความเห็นแย้ง ก็อาจเป็นข้ออ้างให้พนักงานอัยการยื่นฎีกาได้ ซึ่งจะต้องขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุด เพื่อขอให้พนักงานอัยการไม่ยื่นฎีกา
ส่วนจุดยืนทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจากนี้นั้น ปัจจุบันแกนนำก็ได้สลายตัวกันไปหมดแล้ว การชุมนุมทางการเมืองที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น เป็นเรื่องของกลุ่มอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนและประชาธิปไตยแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติบ้านเมืองมามากพอแล้ว. -สำนักข่าวไทย