ทำเนียบ 31 ต.ค.- นายกฯ ประกาศนโยบายจะลดปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายใน 1 ปี พร้อมกำหนด 12 แนวทางการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จ “ยึดผู้เสพเป็นผู้ป่วย ผู้ค้าต้องถูกลงโทษและยึดทรัพย์ ผู้ป่วย ต้องช่วยให้ถึงการพัฒนา ช่วยเหลืออาชีพ”
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน การประชุม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (คณะกรรมการ ป.ป.ส.) ครั้งที่ 3/2566
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมในวันนี้ (31 ต.ค.) นับเป็นการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ส. ครั้งแรกของรัฐบาลชุดนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ส. เป็นกลไกทางนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศ เพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดให้ได้ โดยนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเป็นนโยบายที่จะลดปัญหายาเสพติดให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่าจะลดความเดือดร้อนของประชาชนได้มากขึ้น
นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางการทำงานเพื่อบรรลุผลสำเร็จ ทั้งสิ้น 12 ข้อ ดังนี้
- การยึดเป้าหมายร่วมกัน ผนึกกำลังร่วมกันยึดเป้าหมายสูงสุดนั่นคือ ลดความเดือดร้อนของประชาชน
- การแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้านจิตเวช ยาเสพติดเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมากที่สุดปัญหาหนึ่ง รัฐบาลนี้ถือเป็นรัฐบาลแรก ที่จัดการเป็นนโยบายให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง ซึ่งการแก้ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีความท้าทายอย่างยิ่ง
- การสร้างความเข้าใจ ปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ในระยะเร่งด่วน 1 ปี ได้กำหนด เป้าหมาย ตัวชี้วัด และแนวทางการทำงาน จึงควรมีการทำความเข้าใจในการปฏิบัติ ให้กับหน่วยงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่เป็นหลักประกันของความสำเร็จตั้งแต่เริ่มแรกก่อนการลงมือปฏิบัติ
- งบประมาณ ให้ทุกหน่วยที่ได้รับงบประมาณด้านยาเสพติดประจำปีอยู่แล้ว ขอให้ปรับและจัดสรรงบประมาณให้กับปฏิบัติการเร่งด่วนนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้เพราะเป็นนโยบายสำคัญ
- จังหวัดเป็น CEO จัดการแก้ไขปัญหาตัวเอง ขอให้แต่ละจังหวัดดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง วัดผลได้ เป็นรูปธรรม
- การขยายการมีส่วนร่วมของชุมชน ความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่สำคัญอยู่ที่การมีส่วนร่วมของชุมชน ขอให้กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปหาแนวทางในการ ขยายการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มากกว่านี้
- ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดให้มากขึ้น เพราะเป็นกฎหมายที่ปรับฐานคิด ของการแก้ไขปัญหายาเสพติดใหม่ ยึดผู้เสพเป็นผู้ป่วย ผู้ค้าต้องถูกลงโทษและยึดทรัพย์ ผู้ป่วย ต้องช่วยเขาให้ตลอดไปถึงการพัฒนา ช่วยเหลืออาชีพ ให้เห็นเป็นตัวอย่าง อย่าไปมุ่งจับกุมผู้เสพ เป็นหลัก ส่วนผู้ค้าต้องมุ่งทำลายเครือข่าย ยึดทรัพย์สินอย่างเต็มที่ตามหลักนิติธรรม โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ยึดหลักการนี้อย่างจริงจัง
- วางระบบรายงาน ติดตาม เชิงรุก สามารถมองเห็นความคืบหน้า การขับเคลื่อนงาน ปัญหาอุปสรรค และแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที เป็นเรื่องสำคัญของการบริหาร จัดการแนวใหม่ ซึ่งจะต้องมีศูนย์บัญชาการ (war room) ในระดับต่าง ๆ โดยในส่วนกลางให้สำนักงาน ป.ป.ส. รับผิดชอบเรื่องนี้และเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลยาเสพติดแห่งชาติ มีข้อมูลจากทุกหน่วยงาน
- การสรุปองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เป็น best practice เชื่อว่าการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดฯ จะสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด
- การจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดการออกอนุบัญญัติที่ยังคงค้างอยู่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
- ความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566 ขอให้เร่งรัดดำเนินงานและรายงานผลอย่างต่อเนื่อง และ
- การสนับสนุนค่าตอบแทนเงินสินบนรางวัลคดียาเสพติด ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดประชุมทุกเดือน พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ ในการประชุมฯ ได้พิจารณาร่วมกันถึง (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล การกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5(10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด การลดผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดการลดผลกระทบจากผู้ป่วยจิตเวช การขยายผลหัวโทนโมเดล ซึ่งประสบความสำเร็จจนได้รับการจัดให้เป็นโมเดลต้นแบบการแก้ปัญหาผู้ป่วยในชุมชนจิตเวชในชุมชนก่อเหตุรุนแรง และ(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติดจำนวน 2 ฉบับ
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับรองมติการประชุมเพื่อไปดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญ 9 ข้อ ดังนี้
- รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติดและให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดการจัดทำอนุบัญญัติรองรับประมวลกฎหมายยาเสพติดให้แล้วเสร็จ
- รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2566
- รับทราบรายงานผลของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
- รับทราบรายงานผลการทำลายยาเสพติดของกลางของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ครั้งที่ 56
- เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. 2567 และปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด ในระยะเวลา 1 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
- เห็นชอบในหลักการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด
- เห็นชอบแนวทางการดูแลส่งต่อผู้ป่วยยาเสพติด
- เห็นชอบในการนำรูปแบบหัวโทนโมเดลไปประยุกต์ใช้และขยายผลในพื้นที่อื่น
- เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด จำนวน 2 ฉบับ
นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ห่วงใยปัญหานี้ต้องการให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด โดยขอให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน และหากติดขัดมีปัญหาในส่วนไหนขอให้ดำเนินการแก้ไข และห่วงใยผู้ที่ติดยาเสพติดได้รับการดูแลและคืนสู่สังคมอย่างปลอดภัยแล้ว ว่าต้องหางาน หาอาชีพให้ผู้นั้นเพื่อกลับเข้าสู่สังคม ครอบครัวได้อย่างสมบูรณ์ ไม่กลับไปหาสิ่งเสพติดอีก .-สำนักข่าวไทย