กรุงเทพฯ 6 ก.ค.-สปสช.จับมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง Service Plan สธ.ราชวิทยาลัย ปรับปรุงแนวทางรักษาผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทอง ปี 61 เพิ่มเป็น 11 กลุ่มโรค 21 สูตรยาเคมีบำบัด หรือ 21 โปรโตคอล ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมยาจำเป็นหลายรายการ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2561 โดย ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ ประธานคณะทำงานพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.
ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวว่า การพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพได้ครอบคลุมและทั่วถึง และผู้ให้การรักษาได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติและติดตามคุณภาพการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ การให้สิทธิประโยชน์มะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองที่ผ่านมานั้น ต้องบอกว่าทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ปัจจุบันมียาจำเป็นหลายกลุ่มที่ค่อนข้างแพง มีการให้ยาเคมีบำบัดหลายชนิดที่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ที่ผ่านมามีการจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็งหรือโปรโตคอล (Protocol) เพื่อประกอบการจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2551 ที่มาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาโรคมะเร็ง ราชวิทยาลัย Service Plan ของกระทรวงสาธารณสุข สมาคมทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าวต่อว่า การต้องกำหนดโปรโตคอล (Protocol) หรือสูตรยาเคมีบำบัดที่เป็นที่ยอมรับกันในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ นั้น เพื่อให้มีมาตรฐานการรักษา ซึ่งยารักษามะเร็งนั้นจำเป็นต้องมีโปรโตคอลเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยซึ่งต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็จะมีสมาคมวิชาชีพที่เป็นกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาโรคมะเร็งจัดทำแนวทางการรักษาหรือโปรโตคอลการรักษามะเร็งเช่นกัน โดยมีผู้เชี่ยวชาญของแต่ละสมาคมมาให้ความรู้ เอาข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์เข้ามาจับ และมาช่วยกันทำ เพื่อให้เป็นประโยชน์ ในการรักษามะเร็งในรูปแบบต่างๆ เช่น แนวทางการผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง
สำหรับการจัดทำสูตรโปรโตคอลรักษาผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองนั้น จะมีการทบทวนโปรโตคอลทุก 3 ปี โดยยึดหลักการจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ รวมถึงรายการยาที่จำเป็นและเพิ่งทบ ทวนกันไป กำลังจะประกาศใช้ใน 1 ต.ค.2560 นี้ จากปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยมะเร็งในสิทธิบัตรทองมีแนวทางการรักษา 8 กลุ่มโรค 11 โปรโตคอล และในปี 2561 นี้จะเพิ่มเป็น 11 กลุ่มโรค 21 โปรโตคอล ดังนี้
1.มะเร็งเต้านม 2.มะเร็งปอด 3.มะเร็งลำไส้ใหญ่ 4.มะเร็งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร 5.มะเร็งตับทางเดินน้ำดี 6.มะเร็งหลังโพรงจมูก 7.มะเร็งนรีเวช ปากมดลูก รังไข่ มดลูก 8.มะเร็งกระเพาปัสสาวะ มะเร็งต่อมลูกหมาก 9.มะเร็งกระดูก 10.มะเร็งโรคเลือดผู้ใหญ่ 11.มะเร็งในเด็ก
“วิวัฒนาการในการรักษาโรคมะเร็งที่สำคัญมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ เดิมเป็นยาเคมีบำบัดพื้นฐาน ต่อมามียาเคมีบำบัดตัวใหม่ๆ ที่มีประสิทธิ ภาพสูงขึ้นและยังมียามุ่งเป้าที่เรียกว่า Targeted therapy ที่มีประสิทธิ ภาพในการรักษาโรคมะเร็งที่มีเป้า เช่น ยาต้าน HER-2 ในมะเร็งเต้านม ที่มีเป้า HER-2 เป็นบวก ยากลุ่มนี้ราคาแพงมาก ประมาณปีละ 5 แสนบาท แต่ สปสช.ได้พิจารณาถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้ป่วย จึงจัด Protocal ให้สำหรับการรักษาเสริมหรือที่เรียกว่า Adjuvant Therapy ด้วยยาต้าน HER-2 คือ Trastuzumab ให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกที่มีต่อมน้ำเหลืองเป็นบวกและมี HER-2 เป็นบวก นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์ให้ยา มุ่งเป้า Rituximab ในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Diffuselarge B cell ที่มีเป้า CD20 เป็นบวกด้วย ซึ่งราคายาประมาณ 4-5 แสนบาทต่อชุด” ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษาก็มีราคาสูงมาก ขณะที่องค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สปสช.ขอบคุณทุกส่วนที่ร่วมกันพัฒนาและปรับปรุงแนวทาง การรักษาโรคมะเร็งขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณะทำงานซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษามะเร็ง Service Planกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยและสมาคมทางการแพทย์ต่างๆ ที่ระดมสมองร่วมกันจัดทำแนวทางการรักษาโรคมะเร็งหรือโปรโตคอลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพมาตรฐานได้ครอบคลุมและทั่วถึง
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนการใช้บริการเพิ่มขึ้น ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ในการชดเชยค่าบริการ ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยเฉลี่ยปีละ 6,882 ล้านบาท (ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยปีละ 1,356 ล้านบาท ผู้ป่วยในเฉลี่ยปีละ 5,526 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 6 ของงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมด .-สำนักข่าวไทย