กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดสินเชื่อธนาคารโตร้อยละ 4 ห่วงเอสเอ็มอี และ รายย่อย รับมือต้นทุนเพิ่ม –เอ็นพีแอลพุ่ง
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยปีนี้ยังคงเติบโตได้ร้อยละ 4 โดยคาดหวังแรงขับเคลื่อนจากฝั่งสินเชื่อธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อรายย่อยชะลอตัวกว่าที่คาด โดยสินเชื่อรายใหญ่มีโอกาสเติบโตมากกว่าที่คาดขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากเดิมคาดโตร้อยละ 2 จากสินเชื่อเทรดไฟแนนซ์ เงินทุนหมุนเวียน และ สินเชื่อระยะยาว ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอี ยังมีการเติบโตในกรอบจำกัดทำให้คงประมาณการเติบโตสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ร้อยละ4
โดยปัจจัยถ่วงสำหรับสินเชื่อเอสเอ็มอีมาจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศที่ยังไม่ทั่วถึง ความกังวลต่อประเด็นคุณภาพหนี้ และ กฎหมายแรงงานใหม่ แม้ธุรกิจขนาดใหญ่ และ เอสเอ็มอีขนาดกลางจะสามารถรับมือและบริหารจัดการผลกระทบเฉพาะหน้าได้ แต่เอสเอ็มอีขนาดเล็กต้องเผชิญข้อจำกัดในการปรับตัวและรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในระยะที่เหลือของปีนี้
ส่วนสินเชื่อรายย่อยคาดจะเติบโตลดลงเหลือร้อยละ5.5 เหลือร้อยละ 4.5 โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่โตชะลอลงตามยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และ ธนาคารยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทางด้านหนี้ที่มิก่อให้เกิดรายได้(NPL) มีโอกาสขยับขึ้นต่อแตะร้อยละ3 ในไตรมาส 3/60 โดยลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อยยังเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหว ในกลุ่มค้าส่งค้าปลีก ธุรกิจด้านเกษตรบางประเภท รับเหมาก่อสร้าง ลูกค้าบุคคลรายย่อย รวมทั้งลูกค้าที่เคยปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า จากมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และ สินเชื่อส่วนบุคคลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ฝ่ายวิจัยได้ประเมินผลกระทบต่อรายได้รวมของระบบธนาคารปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 0.3 ของรายได้รวมทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนในไตรมาส 4/60 โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียม และ รายได้ดอกเบี้ย .- สำนักข่าวไทย