นนทบุรี 26 ก.ย.-อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ไทยโตต่อเนื่อง หลังนักท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมกระเตื้อง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แนวโน้มดีขึ้น ความต้องการที่พักอาศัยและบ้านเพิ่มขึ้นส่งผลปี 65 ยอดผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ในประเทศแตะ 1.67 แสนล้านบาท ต่างชาติชื่นชอบความประณีต ความสวยงามดันยอดส่งออก 8.12 หมื่นล้านบาท แนะผู้ประกอบการหันมาผลิตเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก : Green Furniture’ รับเทรนด์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากล่าวว่าทีมวิเคราะห์ธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจที่น่าจับตามอง ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2566 พบว่า หนึ่งในธุรกิจที่มีความโดดเด่น ผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องทั้งในแง่ของรายได้และผลกำไร แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในอนาคต รวมทั้ง การเข้ามาของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ‘ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์’ เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นแซงหน้าหลายธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งจากภาคการบริการและท่องเที่ยว โดยเฉพาะการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ความต้องการที่พักอาศัยและบ้านหลังที่ 2 เพื่อรองรับการทำงานแบบ hybrid workplace สำหรับชาวไทยรายได้สูงและชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยในไทย นโยบายภาครัฐ เช่น การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงธุรกิจที่อยู่อาศัยในจังหวัดภูมิภาคที่มียอดขายเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ เช่น จังหวัดชลบุรีและระยองที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ส่งผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งเข้ามาขยายธุรกิจเพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและการจ้างงาน จังหวัดภูเก็ตเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาซื้ออาคารเพื่อลงทุน เป็นต้น
ทั้งนี้ โดยภาพรวมหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในปี 2565 ปรับขึ้น 14.3% อยู่ที่ 392,858 หน่วย รวมถึงการสร้างและขยายธุรกิจโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้น และหากพิจารณาจากผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปี 2563 ธุรกิจมีรายได้รวม 151,533.16 ล้านบาท ผลกำไร3,203.34 ล้านบาท ปี 2564 รายได้ 164,844.29 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 13,311.13 ล้านบาท หรือ 8.79%) กำไร2,928.07 ล้านบาท (ลดลง 275.27 ล้านบาท หรือ 8.60%) ปี 2565 รายได้ 166,576.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,731.94 ล้านบาท หรือ 1.05%) กำไร 4,563.82 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,635.75 ล้านบาท หรือ 55.87%) จะเห็นได้ว่า ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ ในปี 2563 -2565 รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยรายได้เฉลี่ยปีละกว่า160,000 ล้านบาท ถึงแม้ว่ารายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นแต่นับว่ามูลค่าตลาดอยู่ในระดับสูง หากพิจารณาผลประกอบการด้านกำไรในปี 2563-2565 มีความผันผวนบ้าง โดยในปี 2564 มีมูลค่าลดลงเล็กน้อย
ขณะที่ ภาพรวมการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์อันดับที่ 25 ของโลกโดยไทยมีจุดแข็งด้านวัตถุดิบในประเทศ เช่น ไม้ หวาย และยางพารา เป็นต้น แรงงานที่มีความประณีตและเชี่ยวชาญจากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ พบว่า มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยโดยรวมยังปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2565 มียอดส่งออกรวม 81,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 5% ตลาดหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย และมีการขยายตัวอย่างโดดเด่นในประเทศแถบเอเชียและในกลุ่มอาเซียน เช่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยหากรวมมูลค่าส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของทั้งโลกแล้ว ประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 0.7% ซึ่งยังมีช่องว่างให้ขยายตลาดส่งออกได้อีกมาก
ส่วนการเติบโตในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ พบว่า ปี 2563 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ399 ราย ทุนจดทะเบียน 1,225.11 ล้านบาท ปี 2564 จดทะเบียน 382 ราย (ลดลง 17 ราย หรือ 4.26%) ทุน1,052.56 ล้านบาท (ลดลง 172.55 ล้านบาท หรือ 14.09%) และ ปี 2565 จดทะเบียน 368 ราย (ลดลง 14 ราย หรือ3.67%) ทุน 1,362.47 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 309.91 ล้านบาท หรือ 29.45%) ทั้งนี้ สำหรับปี 2566 (มกราคม – สิงหาคม) มีการจดทะเบียน 315 ราย (เพิ่มขึ้น 42 ราย หรือร้อยละ 15.39% เมื่อเทียบกับปี 2565 (มกราคม – สิงหาคม) ที่มีการจดทะเบียน 273 ราย) ทุน 759.42 ล้านบาท (ลดลง 319.60 ล้านบาท หรือ 29.62% เมื่อเทียบกับปี2565 (มกราคม – สิงหาคม) ที่มีทุน 1,079.02 ล้านบาท) โดยธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 48,017.18 ล้านบาท คิดเป็น 98.00% ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 5,606.99 ล้านบาท (0.89%) รองลงมา คือ สิงคโปร์ มูลค่า 2,238.51 ล้านบาท (0.32%) ญี่ปุ่นมูลค่า 479.56 ล้านบาท (0.31%) และอื่นๆ มูลค่า 4,628.19 ล้านบาท (0.48%)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 มีจำนวน6,292 ราย คิดเป็น 0.71% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 60,970.43 ล้านบาท คิดเป็น 0.28% ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,377 ราย (37.77%) รองลงมา คือ ภาคกลาง 1,971 ราย (31.32%) ภาคเหนือ 532 ราย (8.46%) ภาคตะวันออก 478 ราย (7.60%) ภาคใต้415 ราย (6.60%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 381 ราย (6.06%) และ ภาคตะวันตก 138 ราย (2.19%)
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ควรมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและแนวโน้มความต้องการเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่างๆ ของตลาดโลก โดยเฉพาะปัจจุบันที่พฤติกรรมผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เกิดกระแส ‘เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก หรือ Green Furniture’ และกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ สำหรับสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ถือเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ ทั้งนี้ ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องระยะยาว.-สำนักข่าวไทย