ภูมิภาค 4 ก.ค.-แรงงานชาวเมียนมาร์ ผู้ประกอบการ และตัวแทนผู้ประกอบการ เร่งนำหลักฐานเอกสารต่างๆ มายื่นเรื่องดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลังวันนี้ คสช.มีมติขยายกรอบเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ออกไปอีก 6 เดือน ส่วนคนที่เดินทางออกไปก็ตั้งใจกลับเข้ามาใหม่ให้ถูกต้อง
ในวันนี้ ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติขยายกรอบเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ออกไปอีก 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.60.-1 ม.ค.2561 เพื่อให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายไปจดทะเบียน ดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้อง ใน 4 มาตรา คือ
-มาตรา 101 ว่าด้วยการเอาผิดลูกจ้าง
-มาตรา102 ว่าด้วยการเอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต
-มาตรา 122 ว่าด้วยการรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน
-มาตรา 119 ว่าด้วยการทำงานโดยไม่มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ
แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์ ซึ่งเข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ใน จ.ภูเก็ต อย่างผิดกฎหมาย หอบสัมภาระ นำครอบครัว เข้ามาขออาศัยอยู่ภายในศูนย์มูลนิธิช่วยเหลือคนจนใน ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ตขอความช่วยเหลือจากจังหวัด ใช้อาคารสถานที่ดังกล่าวเป็นที่พักพิงชั่วคราวให้แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้ ระหว่างรอเดินทางกลับไปยังประเทศพม่า
ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์กลับประเทศไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 409 คน โดยวันพรุ่งนี้จะส่งกลับประเทศผ่านทางชายแดนจังหวัดระนองเพิ่มเติมอีก 100 คน ทำให้ขณะนี้ อาคารที่พักพิงแห่งนี้เนืองแน่นไปด้วยแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาร์จำนวนมาก จนต้องมีการนำเต็นท์ที่พักมาเสริมให้บริเวณด้านนอกอาคารเพื่อลดความแออัด โดย อบจ.ภูเก็ตได้ช่วยอำนวยความสะดวกจัดรถสุขาเคลื่อนที่มาให้บริการ รวมถึงจัดหาอาหารมา 2 มื้อ/วัน
หลายรายให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยว่า พวกเขาเดินทางเข้ามาทำงานที่ไทย โดยมีนายหน้าจากพม่านำพาเข้ามา การกลับไปครั้งนี้เพื่อตั้งใจกลับเข้ามาใหม่ให้ถูกต้อง เนื่องจากเชื่อว่าการทำงานอยู่ในประเทศไทยยังได้ค่าตอบแทนและชีวิตที่ดีกว่าการอยู่ในประเทศบ้านเกิด
แรงงานชาวเมียนมาร์ ผู้ประกอบการ และตัวแทนผู้ประกอบการ เร่งนำหลักฐานเอกสารต่างๆ มายื่นเรื่องดำเนินการแก้ไขในเรื่องของลูกจ้างแรงงานชาวเมียนมาร์ที่เข้ามาเป็นลูกจ้างสาขาอาชีพต่างๆ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดระนอง โดยเน้นในเรื่องการแก้เอกสารการเปลี่ยนนายจ้างให้ตรงกับบัตรอนุญาต การแจ้งสาขาอาชีพให้ตรงกับการทำงาน การแจ้งจากบัตรชมพูในส่วนของกิจการประมงมาเป็นสมุดให้ถูกต้อง ซึ่งก่อนหน้านี้ในแต่ละวันจะมีผู้ที่เข้ามายื่นเรื่องวันละไม่ต่ำกว่า 300-400 คน เจ้าหน้าที่จัดหางานรายหนึ่งบอกว่า ที่ผ่านมาจัดหางานจังหวัดระนองประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบ ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจ และรับทราบถึงขั้นตอนกันดี ส่วนที่มีไหลออกของแรงงานส่วนหนึ่งที่อยู่อย่างไม่ถูกต้อง จึงอยากกลับประเทศเพื่อไปตั้งหลัก บางส่วนก็เดินทางเข้าออกเป็นปกติ เพราะเป็นเมืองชายแดน.-สำนักข่าวไทย