พรรคประชาธิปัตย์ 14 ก.ย. – “ชัยชนะ” ขอบคุณรัฐบาลที่ประกาศลดค่าไฟเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย แนะถ้าอยากลดค่าไฟอย่างแท้จริง ต้องยกเลิกค่าเอฟที ชี้เป็นนโยบาย ปชป. ใช้ในการหาเสียง เพื่อสะท้อนต้นทุนจริงและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟ จี้กระทรวงพลังงานและผู้เกี่ยวข้องตอบให้ชัด ‘บ.พลังงานลม’ ขอใช้พื้นทีดำเนินการทำธุรกิจ และเสียภาษีให้กับ อปท. อย่างไร
นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราชและรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติคณะรัฐมนตรีครั้งแรก ในยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวานนี้ โดยมีการลดค่าไฟฟ้า เป็น 4.10 บาทต่อกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จาก 4.45 บาท เริ่มรอบบิลเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป และลดราคาน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน เป็นต้นไป ว่าถือเป็นมติ ครม. ที่ออกมาแล้วโดนใจประชาชน เพราะต้องยอมรับว่า ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ประเด็นเรื่องค่าไฟแพงถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พรรคการเมืองแทบทุกพรรคต่างมีนโยบายที่จะแก้ไขเรื่องดังกล่าว ดังนั้นการที่รัฐบาลของนายเศรษฐา ตัดสินใจที่ลดค่าไฟฟ้าเหลือมาหน่วยละ 4.10 บาท รวมทั้งการลดน้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่า 30 บาทนั้น ถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนในสภาวการณ์ขณะนี้ เพราะที่ผ่านมา ประชาชนต่างแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเกินความเป็นจริง จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์เอง ก็ได้ประกาศว่า มาตรการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าที่สำคัญก็คือ การยกเลิกค่าเอฟที เพื่อจะทำให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง เนื่องจากเห็นว่า การคิดคำนวณค่าเอฟทีเป็นสมมติฐานทั้งสิ้น และเป็นช่องโหว่ของการกำหนดค่าไฟฟ้า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่มเท่านั้น เพราะฉะนั้น ตนจึงอยากเสนอให้รัฐบาลดำเนินการยกเลิกค่าเอฟทีไปเลย เพื่อที่จะได้ค่าไฟที่สะท้อนกับความเป็นจริง และเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าลด และมีพลังงานใช้อย่างยั่งยืนนั้นก็คือ การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดที่ได้รับจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตนได้อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า รัฐบาลควรเร่งสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ด้วยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน หรือการติดโซลาร์เซลล์ หรือแม้กระทั่งขณะนี้ที่มีนายทุนด้านพลังงานได้ลงทุนทางด้านพลังงานลม ในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งตนยังมีข้อสงสัยว่า ได้มีการดำเนินการอย่างไรในการขอใช้พื้นที่กับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพราะการลงทุนเกี่ยวกับพลังงานลมนั้น จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก ทั้งการติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่หลายสิบต้น การตั้งระบบความคุมกำลังไฟที่ได้ เป็นต้น รวมทั้ง การเสียภาษีบำรุง อปท. ของบริษัทพลังงานลมเหล่านี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะฉะนั้น ตนจึงอยากให้ทางกระทรวงพลังงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่บริษัทพลังงานลมต่างๆ ได้ดำเนินการชี้แจงต่อข้อสงสัยดังกล่าว เพื่อสร้างความกระจ่างให้กับประชาชน เพื่อให้พลังงานลมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการฝ่าวิกฤตปัญหาราคาพลังงานด้วย
“ผมต้องขอขอบคุณทางรัฐบาล ที่ได้ดำเนินการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ตั้งแต่การประชุม ครม. ครั้งแรก แต่ผมเห็นว่า การลดค่าไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ดำเนินการยกเลิกค่าเอฟทีออกไปนั้น เป็นการสร้างความหวาดระแวงให้ประชาชนว่า ค่าไฟฟ้าอาจจะไม่ได้มีการลดจริง เพราะอาจจะมีสูตรที่จะทำให้ค่าเอฟที ไปทำให้ค่าไฟฟ้าไม่ได้ลดลงตามที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือ ดังนั้น การดำเนินการยกเลิกค่าเอฟที พร้อมกับดำเนินการส่งเสริมพลังงานทางเลือกที่หลากหลาย ถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืน” นายชัยชนะกล่าว.- สำนักข่าวไทย