ศาลรัฐธรรมนูญ 12 ก.ย. – ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง “เนตร นาคสุข” ขอความเป็นธรรม ถูกชี้ผิดอาญา-วินัยร้ายแรง กรณีไม่สั่งฟ้องคดี “บอส อยู่วิทยา”
วันนี้ (12 ก.ย.66) เว็บไซต์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่คำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย กรณีนายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม เกี่ยวกับการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา ในคดีขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 โดยขอให้เพิกถอนรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 และเพิกถอนกระบวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ซึ่งศาลฯ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ปรากฏว่าการกระทำของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ และ ป.ป.ช. เป็นการใช้อำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่หากมีผลกระทบต่อสิทธิหรือเสรีภาพของตน นายเนตร สามารถใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ เป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้กำหนดกระบวนการร้อง หรือผู้มีสิทธิขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น นายเนตร จึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่นายเนตร ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 มีทั้งสิ้น 6 ประเด็น 1. การพิจารณาสั่งคดีของนายเนตร ในคดีจราจรที่ 632/255 เป็นความเห็นและการพิจารณาสั่งคดีโดยชอบด้วยกฎหมาย 2. ความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของนายเนตร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 213 และมาตรา 248 3. การกระทำของ ป.ป.ช. ที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายเนตร ว่าการกระทำของนายเนตร มีมูลความผิดทางวินัยร้ายแรงซ้ำอีก เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 และมาตรา 213
4. การกระทำของ ป.ป.ช. ที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายเนตร ว่าการกระทำของนายเนตร มีมูลความผิดทางอาญา เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 213 และมาตรา 248 5. ให้เพิกถอนรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ดังกล่าวทั้งหมด และ 6. ให้เพิกถอนกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.ทั้งหมด. – สำนักข่าวไทย