พรรคเพื่อไทย 6 ก.ย.- “เศรษฐา” หารือ กสศ. เดินหน้าสนับสนุนการศึกษา พร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออก “สลากการกุศล” ระดมทุนช่วยเด็กไม่หลุดออกจากระบบ ลั่นไม่อยากให้ด้อยค่าแต่ต้องช่วยหาทางแก้ไข
เมื่อเวลา 16.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย พรรคเพื่อไทย นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม คณะทำงานนโยบายด้านการศึกษาพรรคเพื่อไทย หารือ แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) นำโดย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานบอร์ด กสศ. และ นายไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ.และกรรมการบอร์ด กสศ. พร้อมมอบกระเช้าสินค้าท้องถิ่นใน จ.ราชบุรี ร่วมแสดงความยินดีในฐานะที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นความบังเอิญว่าในปี 2564 ได้มีโอกาสร่วมเวทีเสวนา THE STANDARD Economic forum 2021 และพบกับนายประสาร จึงได้พูดคุยเรื่องการศึกษา ซึ่งตนมีลูก 3 คน โชคดีที่ได้เรียนสูงๆ พร้อมเล่าว่าในภาคธุรกิจเวลาเจอกันก็คุยกันเรื่องการศึกษา แต่คุยในเชิงด้อยค่าการศึกษา มีแต่เรื่องสนุกปาก ไม่สร้างสรรค์ มีแต่ปัญหาๆ แต่ไม่มีใครเสนอทางออก ในสมัยที่ตนบริหารแสนสิริ ได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบการศึกษา ด้วยการออกหุ้นกู้ระดมทุน 100 ล้านบาท ใช้ในโครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน สนับสนุนการศึกษาเด็ก ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งหวังว่าจะมีบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ เริ่มต้นดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ตนเข้ามาอยู่ในชีวิตการเมือง และ กสศ. องค์กรอยู่ในการดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี แม้ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าไปดูงบประมาณว่าทีมากน้อยแค่ไหน แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และจะสนุบสนุนอย่างต่อเนื่อง ขอให้มั่นใจว่าจะเดินหน้าดูแลอย่างเต็มที่ อีกทั้งพรรคเพื่อไทยมีทีมงานที่แข็งแกร่ง และเมื่อตนเข้าไปบริหารอย่างเต็มที่ก็จะเข้าไปดูเรื่องงบประมาณ
ทั้งนี้ในระหว่างการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับ กสศ.นั้น นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับคณะทำงาน เพื่อพิจารณารายละเอียดความเป็นไปได้ ในการที่รัฐบาลจะออกสลากเพื่อการกุศล (สลากเพื่อความเสมอภาค) เพื่อระดมทุนสนับสนุนการศึกษาของไทยด้วย โดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบื้องต้นในวันพรุ่งนี้ (7 ก.ย.) เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สังกัดกระทรวงการคลัง)
ด้านนายประสาร กล่าวว่าโจทย์สำคัญทางการศึกษาของประเทศไทยมี 4 ด้าน ได้แก่ 1. เรื่องคุณภาพการศึกษา 2. การลดความเหลื่อมล้ำ 3.ความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และ 4 .การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษา ซึ่งกสศ.ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา เสริมสร้างการเข้าถึงซึ่งทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรร มุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชนที่อยู่ในฐานะยากจนมากที่สุด 15% แต่ในช่วงที่มีงบประมาณจำนวนมากก็อาจจัดสรรได้ถึง 20% และปัจจุบันมีเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษาจำนวนหนึ่ง และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเราสามารถช่วยให้เด็กไม่หลุดจากระบบการศึกษาถึง 3.5 ล้านคน จากเงินของกองทุน
สำหรับข้อเสนอของ กสศ.ได้แก่
- มาตรการบริจาค กสศ.สามารถลดหย่อนถาษีได้ มาตรการเป็นแบบปีต่อปี เสนอให้รัฐบาลดำเนินการต่อเนื่อง
- ประเทศไทยยังมีปัญหา “จนข้ามรุ่น”ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงการศึกษา
- ประชากร 20 ล้านคนขาดทักษะ จึงทำให้ยากจน กระทบถึงการเข้าถึงการศึกษา
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวอีกว่า เห็นด้วยทั้งหมดกับนโยบายที่ กสศ. พยายามทำ วันนี้ในอีกสถานะหนึ่ง อาจช่วยได้มากขึ้น เรื่องของสลากการกุศล หรือการบริจาค ขอรับไปพิจารณาดำเนินการ หากทำการระดมทุนได้มาก มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มศักยภาพ กสศ.มากขึ้น ส่วนเรื่องมาตรการด้านภาษี เมื่อมีผู้บริจาคเงินเข้า กสศ.สามารถดำเนินการต่อได้ทันที โดยหลังจากแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 จะสามารถสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทันที ยืนยันสิ่งใดที่สามารถทำได้รวดเร็ว จะทำทันที ขณะเดียวกัน ต้องเข้าไปศึกษาในรายละเอียดของงบประมาณว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่ยืนยันว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ ยืนยันจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในฐานะควบคุมกำกับดูแล กสศ. อย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ กสศ. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 การบริหารงานเป็นอิสระ มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กำกับและดูแล คณะกรรมการบริการ กสศ. กำหนดนโยบายเป้าหมายและแนวทางดำเนินงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้อยโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา .-สำนักข่าวไทย