กรุงเทพฯ 1 ก.ค. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 1 ชะลอตัวต่อเป็นไตรมาสที่ 5 สู่ระดับร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี คาดสิ้นปีอยู่ที่ร้อยละ 78 – 79
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 1/2560 ปรับลดลงเป็นไตรมาสที่ 5 สู่ระดับร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี เทียบกับระดับร้อยละ 79.8 ต่อจีดีพี เมื่อสิ้นปี 2559 ทั้งนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากฐานจีดีพีที่ขยายตัวสูงกว่าหนี้ และจากการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนช่วงต้นปี ขณะที่ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนสิ้นไตรมาส 1/2560 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 สู่ระดับ 11.48 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.16 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้า ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงสู่ระดับร้อยละ 78.0 – 79.0 (ค่ากลางที่ 78.5%) ตามอานิสงส์จากฐานจีดีพีที่สูงกว่าคาดการณ์เดิม และการชะลอตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจของครัวเรือนที่มากกว่าคาด
ทั้งนี้ ในวาระครบรอบ 20 ปี วิกฤติการเงินไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการเปลี่ยนแปลงของหนี้ครัวเรือน ว่า ระหว่างปี 2540 – 2559 หนี้ครัวเรือนเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 8.3 (CAGR) ชะลอลงจากร้อยละ 12.2 ในช่วงปี 2537 – 2539 อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 49.2 ต่อจีดีพีในปี 2540 สู่ระดับ ร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี สิ้นไตรมาส 1/2560 การปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าวเป็นผลจากการขยับขึ้นของสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค
อย่างไรก็ตาม จุดเฝ้าระวังคงอยู่ที่การเติบโตของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคที่เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท เพราะสัดส่วนการกู้เพื่ออุปโภคและบริโภค ตลอดจนกู้เพื่อประกอบธุรกิจเกษตรสูงกว่าร้อยละ 70 ของหนี้ครัวเรือน ดังนั้น จึงเป็นโจทย์ของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตของหนี้กับรายได้และการออมของครัวเรือน เพื่อไม่ให้กลายเป็นประเด็นเปราะบางของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยระยะยาว.-สำนักข่าวไทย