นนทบุรี 1 ก.ย.-สนค.เผยการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การทำงานอัตโนมัติด้วยเครื่องจักร และการเข้าสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล มีทั้งโอกาส ความท้าทาย และสร้างความเหลื่อมล้ำ ชี้จะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน ธุรกิจที่ปรับตัวได้จะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น แนะรัฐและเอกชนต้องผนึกกำลังร่วมมือพัฒนาทักษะแรงงาน พัฒนากฎหมายให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ สนับสนุนการใช้ฐานข้อมูลทำธุรกิจและกำหนดนโยบายภาครัฐ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ต้นทุนการเข้าถึงอุปกรณ์หรือข้อมูลข่าวสารที่ลดต่ำลง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบดั้งเดิมถูกขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่พึ่งพาพื้นที่ทางกายภาพเหมือนอดีต ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจตลอดจนรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ที่สามารถเข้าถึงและปรับตัวใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างหรือพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ในขณะเดียวกันเป็นความท้าทายสำหรับภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสและความท้าทายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงหาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำเดิมที่มีอยู่
ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) โดยธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนเป็นธุรกิจที่เกิดบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม อาทิ บริการขนส่ง ที่พัก การซื้อขายออนไลน์ และเครือข่ายสังคม เป็นต้น โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันคือเป็น “ธุรกิจแพลตฟอร์ม” ที่ไม่ได้ผลิตสินค้าและบริการด้วยตนเอง แต่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” และโยกย้าย “ตลาด” ที่เคยเป็นพื้นที่ทางกายภาพเข้าสู่โลกดิจิทัล ตลอดจนทำหน้าที่ “จับคู่” ผู้ซื้อและผู้ขาย ธุรกิจดังกล่าวสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้แรงงาน อาทิ แรงงานที่ทำงานบนระบบคลาวด์
โดยไม่ยึดโยงกับพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้ทักษะสูง เป็นต้น นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจแพลตฟอร์เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักร (Automation) ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แต่รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับการบริหารงาน ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปนับจากนี้ เนื่องจากมีความสามารถในการวิเคราะห์ที่แม่นยำ ทั้งนี้ ในปัจจุบันแม้จะมีเพียงทักษะบางประการที่จะถูกทดแทนด้วยการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักรได้ แต่ในอนาคตอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เครื่องจักรทำงานแทนคนในทักษะต่าง ๆ มากขึ้น
ขณะเดียวกัน การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data – driven economy) พัฒนาการทางเทคโนโลยีได้เพิ่มศักยภาพให้กับข้อมูล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่
1) พัฒนาการของเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล Technological device ที่เข้าถึงง่าย ผนวกกับการเชื่อมโยง
ผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้ปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายและตลอดเวลา เช่น ข้อมูลการใช้รถยนต์ ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลการใช้งานเครื่องใช้ในบ้าน เป็นผลให้ลักษณะของข้อมูลเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่ต้องพึ่งพาการสำรวจ และนำไปสู่การเกิดขึ้นของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ 2) พัฒนาการของเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล
ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในต้นทุนที่ลดต่ำลง และ 3) พัฒนาการของเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงและกระจายข้อมูล ทำให้การนำเสนอข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้นและอยู่ในรูปแบบที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้ง่ายโดยปราศจากต้นทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในประเด็นดังกล่าวข้างต้น มีนัยต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน จากการศึกษาของ McKinsey & Company กล่าวว่า การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.8-1.4 รวมทั้งลักษณะงานที่มีรูปแบบการทำงานที่ทำซ้ำ ๆ จะมีโอกาสถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรหรือ AI มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อแรงงานที่อาจถูกเลิกจ้าง และการขยายตัวของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ขายสินค้าจะเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
ด้านความสามารถทางการแข่งขัน ธุรกิจที่สามารถเข้าถึงและปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนา
ต่อยอดธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตสูง โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีโอกาสเติบโตมากกว่าเดิมร้อยละ 5 ต่อปี ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้มีโอกาสเติบโตลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2.8 ต่อปี
ด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ ประเทศไทยสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านข้อมูล เช่น Big data มาช่วยกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ต้องใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก รวมทั้งการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ จากประเด็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและนัยยะต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับเทคโนโลยี จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น กฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา การชำระเงินออนไลน์ที่ปลอดภัย การกำกับดูแลเพื่อรองรับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง และรักษาความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจบนเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจดั้งเดิม ปรับปรุงระบบสวัสดิการ เพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานดิจิทัลแยกต่างหาก และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อกำหนดนโยบายพัฒนาศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในการกำหนดนโยบายภาครัฐ สนับสนุนการสร้างฐานข้อมูลร่วมกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของฐานข้อมูลใหญ่ และควรให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม รวมไปถึงประเทศไทยต้องเผชิญ อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย