กรุงเทพฯ 23 ส.ค. – “อนุสรณ์”แนะทีมเศรษฐกิจ เลื่อนเวลา เพิ่มเงินเดือน เพิ่มค่าแรงโอนเงินดิจิทัล หวั่นกระทบขาดดุลงบประมาณ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายการแจกกระเป๋าเงินดิจิทัลไม่มีความจำเป็นต้องรีบทำในช่วงนี้ ควรใช้นโยบายนี้ เมื่อเศรษฐกิจเกิดวิกฤติ หากยังเดินหน้างบประมาณปี 2567 ยังไม่สามารถรองรับได้ จึงหาแหล่ง กู้เงินเพิ่มอีกอย่างน้อย 5 แสนล้านบาท อาจทำให้การขาดดุลงบประมาณทะลุ 1 ล้านล้านบาท สำหรับ การผลักดันนโยบายสวัสดิการ และเพิ่มรายได้ให้ประชาชนผ่านการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทในปี 2570 และเพิ่มเงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว
ส่วนนโยบายจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญ ส่วนการเพิ่มราคาพืชผลเกษตรนั้นควรใช้วิธีเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มมูลค่าด้วยแปรรูปด้วยนวัตกรรมและการตลาด พยายามหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการแทรกแซงราคา เพราะเป็นภาระทางงบประมาณ เกิดการรั่วไหลได้ง่ายและทำให้ภาคเกษตรกรรมอ่อนแอในระยะยาว คาดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2566 ร้อยละ 2.5-3 เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคกระเตื้องขึ้นบ้าง ส่วนภาคการลงทุนจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 หลังจากจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว แม้ล่าช้ามามากกว่า 3 เดือน
พรรคเพื่อไทย เน้นนโยบายทางเศรษฐกิจ นักลงทุนและตลาดการเงิน จึงตอบสนองในทางบวกมากกว่า กลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อาศัยอำนาจผูกขาดย่อมได้รับผลกระทบ การเปิดประตูเปิดโอกาสให้กับทุนขนาดกลางขนาดเล็กมากกว่า รัฐบาลใหม่ จึงเน้นการทำงานกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการประชานิยมและสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อทำให้ประชาชนพอใจ ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหาวิกฤติ เพียงมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัว การบริโภค การลงทุนทยอยดีขึ้น แม้การส่งออกยังติดลบ คาดว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ยังเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจ เพราะการจัดทำงบประมาณปี 67 ล่าช้า
มองว่า รัฐบาลใหม่ ไม่ควรเน้นการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ควรให้น้ำหนักไป ยังการสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับประชาชน และระบบเศรษฐกิจด้วยการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ จากนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง รัฐบาลใหม่ต้องเดินหน้าแก้ไขทันที มีดังนี้
- ปัญหาโครงสร้างระบบการเมืองที่บิดเบี้ยวและไม่เป็นประชาธิปไตยจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทบทวนรื้อถอนปรับปรุง ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดพลวัตในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง ต้องเดินหน้าปฏิรูประบบองค์กรอิสระ ระบบวุฒิสภา ผลักดันให้มีการแก้ไขความสงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยมาตรการเมือง เศรษฐกิจ แทน มาตรการทางการทหาร ไทย ควร เป็นเจ้าภาพให้เกิดสันติธรรมประชาธิปไตยในเมียนมา เกิดความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนไทยเมียนมา
- ปัญหาโครงสร้างประชากรสังคมสูงวัย ประชากรในวัยทำงานลดลง ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ฐานภาษีหดตัวลงจากประชากรวัยทำงานลดลง ประเทศไทยมีผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปีเกือบร้อยละ 20 ของประชากรในปีนี้ โดยประชากรผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีเงินออมไม่พอต่อความจำเป็นในการดำรงชีพ การจ่ายเบี้ยยังชีพนั้นไม่เพียงพอ ต้องสร้างระบบบำนาญเพื่อผู้สูงวัยที่อยู่นอกระบบสวัสดิการแรงงานในระบบ อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายในปี พ.ศ. 2564 อัตราการเจริญพันธุ์อยู่เพียง 1.16 (อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่า 2.1 ประชากรจะเริ่มหดตัว) มีอัตราเจริญพันธุ์ต่ำที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก หากเป็นเช่นนี้ต่อไป จำนวนประชากรไทยจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยในอีก 60-70 ปีข้างหน้า หากสังคมไทยเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ แล้วใครจะจ่ายภาษี ใครจะทำงาน ใครจะดูแลรักษาพยาบาลผู้สูงวัย รัฐบาลใหม่ต้องมียุทธศาสตร์ นโยบายและแผนปฏิบัติการอย่างชัดจนในแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้
- สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเกินกว่าร้อยละ 80 นานมากจะส่งผลต่อเสถียรภาพต่อระบบการเงินและข้อจำกัดในการเติบโตของเศรษฐกิจ ตัวเลขล่าสุดไตรมาสแรกปีนี้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขึ้นมาเกือบแตะร้อยละ 91 ลูกหนี้มีพฤติกรรมก่อหนี้ใหม่ไปชำระหนี้เก่ามากขึ้นกว่าเดิม สะท้อนว่า ภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวและกับดักหนี้รุนแรงขึ้นและยิ่งเข้าสู่ภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นการแก้ไขปัญหาหนี้สินก็ยากขึ้น เมื่อไม่ได้ก่อหนี้มาใช้จ่าย แต่ไปชำระหนี้เดิม ผลของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่อเศรษฐกิจย่อมน้อยลง
- ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปัญหากับดักความยากจนข้ามรุ่น ไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจติดอันดับต้นๆของโลกและรุนแรงมากขึ้นช่วงวิกฤติโรคระบาดโควิดเมื่อปี 2563-2564 เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น จำนวนมาก ครัวเรือนเหล่านี้ส่วนใหญ่ ไม่มีเงินออม การศึกษาต่ำ และอัตราการพึ่งพิงสูง โดยปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ครัวเรือนเข้าข่ายเป็นครัวเรือนยากจนข้ามรุ่น คือ การขาดความมั่นคงทางการเงินเนื่องจากไม่มีเงินออม (ร้อยละ 60.3) รองลงมาคือ ความขัดสนทางการศึกษา จากการที่เด็กอายุ 6-14 ปี ไม่ได้รับการศึกษาภาคบังคับครบ 9 ปี (ร้อยละ 36.4) โดยเด็กจำนวนมากต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา
- ปัญหาการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและโอกาสทางการศึกษา การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทภายในปี พ.ศ. 2570 จะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง การสร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและการเพิ่มผลิตภาพการผลิตของแรงงานเป็นคำตอบต่อความท้าทายระยะยาวมากกว่าเพียงขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
- ความถดถอยของขีดความสามารถในการแข่งขันและการไม่มีเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความอ่อนแอของภาคส่งออกไทย ธุรกิจอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ไม่ใช่ธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต มีธุรกิจอุตสาหกรรม New S Curve น้อยมาก
- ค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสวัสดิการทางด้านสุขภาพ รัฐมีข้อจำกัดรายได้ ต้องปฏิรูปกองทุนประกันสังคมครั้งใหญ่ รองรับมือกับสังคมผู้สูงวัย กองทุนประกันสังคม อาจประสบปัญหาสภาพคล่องได้ใน 30 ปีข้างหน้า หากไม่มีเพิ่มการจ่ายเงินสมทบหรือยืดอายุเกษียณเพื่อรับเงินบำนาญ
- ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความทรุดโทรมของทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ทั้งปัญหามลพิษทางอากาศรุนแรง น้ำเน่าเสียรุนแรง ปัญหาขยะมีพิษ ดินเค็ม ขาดน้ำในหน้าแล้ง น้ำท่วมในหน้าฝน สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องทุ่มเทงบประมาณแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเพราะกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน
- นโยบายกัญชา ควรจำกัดให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น และควรส่งเสริมให้เกิดการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ไม่ควรให้ใช้ในสันทนาการเพราะเป็นสิ่งเสพติด .-สำนักข่าวไทย