15 ส.ค. – วิจารณ์สนั่น! ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องพิสูจน์ความจน “ทนายเดชา” ระบุเป็นคนไทยต้องได้รับสวัสดิการเท่าเทียม “พิธา” จี้ รมว.มหาดไทย ชี้แจงให้ชัดเจน
ประเด็นถกเถียงเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่จะมีการพิสูจน์ความจน นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ระบุว่า ทางกฎหมาย รัฐสวัสดิการ ต้องให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่สามารถแยกชั้นวรรณะ หรือแยกเรื่องรายได้ เจตนารมณ์ของกฎหมาย ใครเป็นคนไทย ก็ควรจะได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียม สำหรับคำว่าจน ในทางกฎหมายก็คือกลุ่มคนยากไร้ แต่ก็ไม่ใช่บรรทัดฐานที่จะนำมาใช้เรื่องการรับสวัสดิการแห่งรัฐ บางคนมีรายรับ 100,000 บาท แต่กลับต้องแบกรับภาระหนี้สิน 200,000 บาท บางคนรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน อาจจะไม่จนก็ได้ เพราะไม่ต้องเช่าที่อยู่อาศัย ไม่มีหนี้สิน การพิสูจน์ความจนจึงเป็นเรื่องยาก และอาจเป็นช่องทางการทุจริตในการใช้ดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์และควรกลับไปใช้กฎกติกาเดิม
ทนายเดชา ยังกล่าวอีกว่า หากประชาชนเสียหาย หรือได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ดังกล่าว สามารถไปฟ้องร้องเอาผิดในศาลปกครอง เพราะเข้าข่ายการออกกฎระเบียบที่กระทบสิทธิของคนอื่น การจะตัดสิทธิใด ควรมีการทำประชามติหรือแจ้งให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นก่อน โดยเฉพาะช่วงรัฐบาลรักษาการ ไม่ควรออกกฎระเบียบที่กระทบสิทธิคนชรา ซึ่งเรื่องนี้ยังสะท้อนให้เห็นเทคนิคการหาเสียงที่อาจเข้าข่ายโฆษณาหลอกลวงด้วย
ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทย ส่งลูกให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ เป็นเรื่องใหญ่และต้องสื่อสารให้ชัดเจน เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย มีแต่จะต้องเพิ่มงบประมาณ ไม่ใช่ตัดงบประมาณดูแลผู้สูงอายุ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มีบำนาญ จะเอาความรู้สึกไปตัดสินแทนพี่น้องประชาชน เป็นวิธีกระบวนการคิดที่ถูกต้องหรือไม่
นายพิธายังได้เทียบงบประมาณผู้สูงอายุ กับงบเรือดำน้ำที่การใช้เรือดำน้ำต่อสู้แทบจะไม่มี แต่สังคมสูงวัยที่เหลื่อมล้ำ เป็นเทรนด์โลกต้องเพิ่มงบประมาณรับมือ อยากตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีอนุพงษ์ ว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ทำไมสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ต้องพิสูจน์ความจนถึงทำไม่ได้ . – สำนักข่าวไทย