รัฐสภา 1 ก.พ.-กมธ.สวัสดิการ เตรียมเสนอร่างแก้ กม.ผู้สูงอายุ ปรับเบี้ยเพิ่มเป็น 3,000 บาท โดยไม่ของบเพิ่ม แต่จัดสรรภาษีใหม่ วอนรัฐบาลพิจารณา
นายณัฐชา บุญไชยอินทร์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร และน.ส.วรรณวิภา ไม้สน พร้อมด้วยกรรมาธิการ สวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าของอนุกรรมาธิการเรื่องของการพัฒนาระบบบำนาญพื้นฐานประชาชน หรือ บำนาญ 3,000 บาท ซึ่งเรื่องนี้มีการดำเนินงานมาหลายยุคหลายสมัยเพื่อเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ โดยมีการจ่ายทยอยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการริเริ่มสวัสดิการนี้ แต่ขณะนี้ตัวเลขเงินคงที่มานานแล้ว และเห็นว่าปัจจุบันนี้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพแล้ว ซึ่งกรรมาธิการชุดที่แล้วได้มีการ ตั้งอนุกรรมาธิการเรื่องของแหล่งรายได้ และแนวทางการพิจารณากรอบของกฎหมายและได้พิจารณาส่งร่างให้กับสภาผู้แทนราษฎร ส่งไปยังฝ่ายบริหารขณะนั้น คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ถูกตีตก เนื่องจาก เป็นร่างเกี่ยวกับการเงิน จึงยังไม่หยุดการต่อสู้เพื่อเรียกร้องและผลักดันเรื่องนี้
ด้านน.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า แม้พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาลและทำงานในหน้าที่ฝ่ายค้าน เราก็ใช้กลไกทุกช่องทางต่างๆ เพื่อจะนำไปสู่การไปต่อยอดกับนโยบายที่เคยหาเสียงไว้กับประชาชนไว้ เพราะฉะนั้นรายงานฉบับนี้จะเป็นก้าวแรกขั้นพื้นฐานของบำนาญประเทศไทยที่มีหลักร้อยมาเกินกว่า 30 ปีแล้วและไม่มีการปรับขึ้น ทั้งที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่าเราอยู่ในสังคมสูงวัย แต่ถ้าเราได้แต่พูดว่าเราอยู่ในสังคมสูงวัยแต่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไรเลย ก็เป็นการไม่สอดคล้องกับสภาวะผู้สูงอายุปัจจุบัน
น.ส.วรรณิภา กล่าวว่า ในรายงานฉบับนี้มี 2 ส่วนแรกคือการแก้ไขพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ปี 2546 ในมาตรา 11 ว่าด้วยเรื่องของการจ่ายเงินผู้สูงอายุ ซึ่งฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลเพราะเนื้อหาไม่เหมือนกัน โดย กมธ.ได้ใช้กฎหมายเก่ามาแก้ใหม่ว่าด้วยหลักการวิธีการของการจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งกฎหมายเดิมเขียนไว้ว่าให้จ่ายตามความเหมาะสมเห็นสมควร แต่กฎหมายฉบับใหม่คือ ให้จ่ายไม่น้อยกว่า เส้นผ่าความยากจนที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดซึ่งปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2,900 กว่า เกือบ 3,000 บาท
และได้มีความเห็นพ้องต้องการในมติคณะกรรมาธิการ เซ็นลงนามในกฎหมายฉบับนี้เพื่อแก้ไขและกำลังจะยื่นสู่สภาฯ ในนามของคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม และน่าจะเป็นกฎหมายฉบับแรก ของสภาชุดที่ 26 ที่มีสส.ทุกพรรคการเมืองเซ็นชื่อร่วมกันในนาม กมธ.
ส่วนที่ 2 ในเรื่องของการใช้เงินเราได้มีการศึกษาเพิ่มในเรื่องการใช้เงิน เพราะ การทำเงินบำนาญประชาชนต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย เช่นปัจจุบันมีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพอยู่ที่ 11.8 ล้านคนใช้งบประมาณประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับงบ กับบำนาญในส่วนอื่น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการที่กินงบประมาณไปกว่า 3 แสนล้านบาท เปรียบเทียบกับบำนาญประชาชนยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่
“บำนาญฉบับนี้ ไม่ได้มุ่งเน้น หรือบอกว่าจะลดบำนาญข้าราชการ แต่เราชี้ให้เห็นว่าบำนาญของภาคประชาชนใช้งบประมาณน้อยมากกับคนเกือบ 12 ล้านคน จึงไม่จำเป็นต้องขึ้นทีเดียวแบบก้าวกระโดดแบบ 3,000 บาท แต่อาจจะขึ้นเป็นขั้นจากปีแรกจาก 600 เป็น 1,200 บาทถ้วนหน้าได้หรือไม่ แล้วปีต่อไปอาจจะเพิ่มเป็น 2,000 หรือ 3,000 บาท โดยที่เราเรียกทุกหน่วยงานทั้งภาคประชาชน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย นักวิชาการ เพื่อช่วยกันพิจารณา เป็นรายงานฉบับนี้ขึ้นมา ว่าหากจะปรับเงินบำนาญของประชาชนเพิ่มขึ้นจะทำได้อย่างไร แน่นอนว่า ในปีแรกจะปรับขึ้นจาก 600 เป็น 1,200 บาท ต้องใช้งบประมาณเพิ่มประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท จึงคิดว่าถ้าเราแก้ระเบียบการใช้งบกลางที่ฉุกเฉิน หรือซ้ำซ้อนกับกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ เราสามารถมีเงินเข้ารัฐถึง 40,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ปีแรกเราจะปรับเพิ่มจาก 600 เป็น 1,200 ได้แน่นอน” นายณัฐชา กล่าว
ายณัฐชา กล่าวว่าทุกพรรคการเมืองที่เคยหาเสียงไว้น่าจะสนับสนุนรายงานฉบับนี้ รวมถึงพ.ร.บ.ที่เรายื่นในนามกรรมาธิการและพรรคการเมือง หรือภาคประชาชน หวังว่านายกรัฐมนตรีจะเซ็นรับรองและนำให้มาถกเถียงกันในวาระแรก เพื่อสร้างบำนาญพื้นฐานประชาชนได้หรือไม่.-312.-สำนักข่าวไทย