โต้กันวุ่น จนต้องสั่งปิดประชุม

รัฐสภา 4 ส.ค.-ประธานรัฐสภาสั่งปิดประชุม หลัง “ก้าวไกล” ชงทบทวนมติห้ามเสนอชื่อ “พิธา” ซ้ำ ย้ำทบทวนไม่ได้ ก่อนโต้เถียงไปมาร่วมชั่วโมง สุดท้ายงัดไม้แข็งปิดประชุมจบปัญหา


 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ (4 ส.ค.) มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานประชุม โดยมีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พุทธศักราช …. ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งนายชัยธวัช ตุลาธน สส.พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยที่มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อปิดสวิตช์ สว. ไม่ให้มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงเวลา 09.30 น. ซึ่งเป็นเวลาที่นัดการประชุม ยังมีสมาชิกรัฐสภาลงชื่อเข้าร่วมประชุมเพียงแค่ 275 คน ประกอบด้วย สส. 241 คน และ สว. 34 คนเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถเปิดประชุมได้ตามเวลา

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า วันนี้สภาพการจราจรค่อนข้างติดขัด เนื่องจากมีตู้คอนเทนเนอร์ขวางอยู่ ทำให้สมาชิกรัฐสภาหลายคนเดินทางมาล่าช้า และขณะนี้มีความพยายามของคนบางกลุ่มต้องการที่จะล้มองค์ประชุม จึงขอให้ประธานรอสมาชิกอีกสักครู่ก่อน และระหว่างนี้ขอให้เปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิกได้หารือปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไข


จากนั้นบรรดา สส.ก้าวไกล สลับลุกขึ้นหารือ โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาการเดินทางมาประชุมรัฐสภาไม่สะดวก นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า เข้าใจถึงปัญหาความเดือดร้อนทั้งของสมาชิกและประชาชน แต่ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็มีความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติหน้าที่

จนกระทั่งเวลา 10.00 น. ยังมีสมาชิกรัฐสภาไม่ครบองค์ประชุม ทำให้นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นหารือเชิงเหน็บ สว.ว่า เมื่อสักครู่นี้ก่อนจะเข้าห้องประชุม เห็น สว.หลายคน ยืนอยู่บริเวณหน้าห้อง ไม่แน่ใจว่าไม่มีปากกาเซ็นชื่อหรือไม่ จึงต้องบอกตรงๆ ว่า รอ สว.ครับ ก่อนที่จะหันไปดูที่หน้าจอแสดงจำนวนสมาชิกและพูดว่า “มากันกี่ท่านครับ ว้าย! 49 คน” ในที่สุดก็เปิดประชุมได้ในเวลา 10.38 น.

นายรังสิมันต์ เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้ทบทวนมติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรณีรัฐสภามีมติใช้ข้อบังคับ รัฐสภาข้อ 151 ตีความข้อบังคับที่ 41 ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซ้ำในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง โดยมีชื่อผู้รับรองครบถ้วน แต่ประธานรัฐสภาระบุว่าไม่สามารถเสนอได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หากเดินหน้าต่อจะติดขัดกับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร จึงขอให้รอคำวินิจฉัยของศาลก่อน และขอให้เลื่อนมาพิจารณาวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ สว.ที่บรรจุไว้ในวาระ


ขณะที่นายรังสิมันต์ และ สส.พรรคก้าวไกล พยายามทักท้วงยืนยันว่ามีอำนาจของสภาในการลงมติ อีกทั้งสมาชิกพรรคก็รับรอง แต่ประธานยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี หากดำเนินต่อไปจะเกิดความเสียหาย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งและสง่างามกับคนที่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จึงอยากให้สมาชิกรอศาลก่อน จะได้ไม่ให้มีปัญหาในทางปฏิบัติและไม่ให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมือง

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอถูกต้อง ขอให้ประธานฯ ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม

ส่วนนายสมชาย แสวงการ สว. เสนอให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แต่นายรังสิมันต์พยายามโต้แย้งว่าการเสนอญัตติเป็นไปตามข้อบังคับที่ถูกต้อง จนกระทั่งมี สว.อภิปรายสนับสนุนการคัดค้านของประธานรัฐสภา โดยนายสมชายแสดงความไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายรังสิมันต์ จึงเสนอญัตติไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายรังสิมันต์ โดยมี สว.รับรองครบถ้วนเช่นกัน

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ชี้แจงว่า มติรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ไม่ให้เสนอชื่อนายพิธาซ้ำ เป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ไม่ใช่เพียงการดำเนินการตามข้อบังคับ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญวรรคสอง ระบุขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไว้ชัดเจนว่าจะเสนอชื่อซ้ำได้เมื่อใช้เสียงของรัฐสภา 2 ใน 3 ยกเว้นข้อบังคับเพื่อให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ จึงจะสามารถเสนอชื่อบุคคลที่ญัตติตกไปแล้ว กลับมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขนี้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับที่ 41 ที่ระบุว่าประธานรัฐสภาสามารถวินิจฉัยให้เสนอซ้ำได้เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น กรณีนี้จะเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเข้าเงื่อนไขในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอก  

ขณะที่นายประพันธ์ คูณมี ส.ว.ไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายรังสิมันต์ ที่ลบล้างที่เคยลงมติไปแล้ว เพราะไม่มีข้อบังคับให้กระทำได้ ไม่มีเหตุให้ทบทวน ยืนยันว่าการวินิจฉัยของประธานรัฐสภาที่เห็นว่าไม่สามารถทบทวนได้นั้นชอบแล้ว  เพราะการลงมติของสมาชิกเป็นญัตติซ้ำเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ญัตติที่เสนอให้ทบทวนจึงไม่ชอบ ทำให้นายรังสิมันต์ยืนยันจะให้ที่ประชุมเดินหน้าทบทวนญัตติลงมติโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี จนในที่สุดประธานรัฐสภาขอเลื่อนการประชุมวันนี้ออกไปก่อน และปิดการประชุมทันทีในเวลา 11.27 น.-สำนักข่าวไทย    

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง