กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – ออมสิน มุ่งใช้ ESG ผลักดัน ธนาคารเพื่อสังคม หลัง ช่วยสังคมได้กว่า 55,400 ล้านบาท งัดคะแนน ESG Score เป็นเงื่อนไขปล่อยกู้
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารออมสิน มุ่งใช้แนวคิด ESG เป็นกรอบการดำเนินธุรกิจ มุ่งช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สามารถสร้าง Social Impact ประเมินมูลค่าเป็นเม็ดเงินกว่า 55,400 ล้านบาท หวังให้เกิดเปลี่ยนแปลงมากมายต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านการออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อ GSB for BCG Economy สินเชื่อ Green Biz, Green Home Loan และสินเชื่อบุคคล GSB Go Green
รวมถึงการจัดจำหน่าย ESG Bond มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของตราสารหนี้ภาครัฐ และติด 1 ใน 10 ของตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 20,000 ล้านบาท การส่งเสริมโครงการติดตั้งระบบ Solar Rooftop ที่สาขาและอาคารสำนักงานใหญ่ โครงการปลูกป่าเพื่อชดเชย/ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการ Community Waste Bank ร่วมกับ UNDP โครงการธนาคารปูม้าส่งเสริมประมงยั่งยืน
ล่าสุดธนาคาร กำหนดให้มีการใช้ ESG Score เป็นเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ วงเงินกู้ 500 ล้านบาทขึ้นไป โดยลูกค้ารายที่มีผลคะแนน ESG Score ในระดับดีมาก ธนาคารจะลดดอกเบี้ยเงินกู้หรือเพิ่มวงเงินให้กู้ ส่วนรายใดคะแนน ESG Score ต่ำกว่า 2 ธนาคารสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาให้กู้ไว้ก่อน แต่จะเข้าช่วยเหลือมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับการดำเนินงานของลูกค้าด้าน ESG ให้ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของธุรกิจธนาคารที่มีการนำเอา ESG Score มาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างจริงจัง
นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังเตรียมยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมาย GSB Net Zero Target อย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ภายในปี 2030 และเป็นศูนย์ภายในปี2050 โดยมุ่งช่วยเหลือ หนี้ครัวเรือน และการช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้ากลุ่มฐานราก 3 มิติ ได้แก่ 1) การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ คิดดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือรายย่อย กว่า 3.7 ล้านคน โดยมีจำนวน 3.2 ล้านคนเป็นผู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบเพราะมีเครดิตต่ำ ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนกว่า 48,000 ราย ได้รับการเติมทุนเสริมสภาพคล่องเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท นำไปประคองธุรกิจและฟื้นฟูกิจการให้เดินหน้าต่อได้
ส่วนมิติที่ 2) การปรับโครงสร้างดอกเบี้ยตลาดให้เป็นธรรม ผ่านการเข้าทำธุรกิจสร้างการแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งสามารถลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ลงมาอยู่ที่ 16-18% ในปัจจุบัน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ที่ให้ลูกค้าสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้ นับว่าประสบความสำเร็จนำไปสู่การร่วมทุนจัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเม็ดเงินกว่า25,000 ล้านบาท มิติที่ 3) การสร้างงานสร้างอาชีพ สามารถพัฒนาทักษะอาชีพแก่ประชาชนได้มากกว่า 300,000 ราย ให้เงินทุนประกอบอาชีพมากกว่า 140,000 ราย และสร้างช่องทางการขายแล้ว 25,000 ร้านค้า ผ่านกิจกรรมของโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการออมสิน อาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน เป็นต้น
ธนาคารออมสิน ยังได้ปรับลดงบประมาณองค์กรลงเกือบ 25% ต่อปี โดยในปี 2566 ได้ลดการตั้งงบประมาณลงถึง9,800 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคุ้มค่าแล้ว ยังมีการปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสในการทำธุรกิจ จึงได้เพิ่มเงินสำรองทั่วไปได้มากกว่า 46,000 ล้านบาทในระยะเวลาเพียง 3 ปี รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร รณรงค์ส่งเสริมต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยธนาคารได้รับผลประเมิน ITA ปี 2565 ระดับสูงสุด 4 ปีติดต่อกัน
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ในรอบ 6 เดือน ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 17,344 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 2.35 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 2.68 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 3.16 ล้านล้านบาท NPLs ร้อยละ 2.63 ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ร้อยละ 172.10 มียอดเงินสำรองรวม 106,595 ล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคาร.-สำนักข่าวไทย