รัฐสภา 13 ก.ค.-เริ่มแล้ว! รัฐสภาเปิดประชุมโหวตเลือกนายกฯ คึกคัก ‘เพื่อไทย’ มาตามนัดตัวแทนชง ‘พิธา’ ด้าน ‘ปธ.วันนอร์’ ยันจะทำหน้าที่เป็นกลาง แจงกรอบเวลาอภิปราย ขณะที่ “ชาดา” ค้านเต็มแรง ลั่น 14 ล้านเสียงแค่ 20 % อย่าคิดว่ามาก ไม่ใช่เสียงชี้ขาดอนาคตประเทศ ถ้าเปลี่ยนใจไม่แก้ ม.112 “ภูมิใจไทย” พร้อมหนุน แต่ไม่ร่วมรัฐบาล
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม โดยมีวาระสำคัญที่สำคัญคือการพิจารณาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เริ่มขึ้นในเวลา 09.30น. นายวันมูหะมัดนอร์ได้แจ้งเปิดประชุม ว่า วันนี้(13 ก.ค.) ตนทำหน้าที่การประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งแรก ยืนยันว่าจะทำหน้าที่อย่างเป็นกลางให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ประชาชน ประเทศชาติ เกียรติและศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่อาจขาดตกบกพร่องบ้าง และพร้อมรับความคิดเห็นติชมของสมาชิกตลอดเวลา ซึ่งการประชุมจะมีประสิทธิภาพตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายของรัฐสภา
“กรอบเวลาอภิปรายจากที่ได้หารือกับตัวแทนวุฒิสภาและตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 18 พรรคการเมือง หลังเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯแล้ว จะเปิดให้อภิปรายคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ คือ ส.ว.ได้เวลา 2 ชั่วโมง ส.ส.ได้เวลา 4 ชั่วโมง โดยจะให้อภิปรายเป็นรายพรรคการเมือง ทั้ง 18 พรรคการเมือง แบ่งเป็น 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล จะได้เวลาอภิปรายไม่เกิน 2 ชั่วโมง และการอภิปรายคาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนเวลา17.00น. จากนั้นจะโหวตนายกฯต่อไป” ประธานรัฐสภา กล่าว
เวลา 10.00 น. เริ่มเข้าสู่วาระการเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯตามมาตรา272 โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา ได้ลุกขึ้นเป็นตัวแทน 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 โดยมีผู้รับรองถูกต้อง 302 เสียง จากนั้นนายวันมูหะมัดนอร์ ได้เปิดให้สมาชิกแสดงตนผ่านการเสียบบัตร
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย สมาชิกรัฐสภาอภิปรายคนแรก โดยอ่านแถลงการณ์ของพรรคภูมิใจไทยซึ่งเคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ย้ำจุดยืนของพรรค ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ซึ่งตลอดการอภิปรายของนายชาดาเป็นไปด้วยความดุเดือด ว่า แม้ 8 พรรคร่วมตั้งรัฐบาลจะลงนาม MOU ว่านโยบายที่ผลักดันจะไม่กระทบต่อหลักการปกครองของรัฐตามหลักการประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ในทางกลับกัน นายพิธาเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่าจะแก้ไขมาตรา112 โดยจะให้ส.ส.ก้าวไกลเป็นผู้เสนอเอง ซึ่งนายพิธาได้แถลงและให้สัมภาษณ์สื่อทั้งในประเทศและสื่อต่างประเทศ
นายชาดา อภิปรายว่า นายพิธา ระบุว่าพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน 14 ล้านคนประชาชนเข้าใจดีว่าเราชัดเจนและโปร่งใสที่ต้องการผลักดัน โดยบอกว่าต้องการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยเจตนาดีที่ดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องเรียนตามตรงว่า ตนเองและพรรคภูมิใจไทยไม่เชื่อ เพราะสิ่งที่ผ่านมาทำให้เราเห็นชัดเจนว่าความคิดมาตรา 112 เป็นอย่างไร จึงต้องถามไปยังอีก 7 พรรคการเมืองพที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่ามีความเห็นอย่างไร หากเกิดการขอแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แม้จะไม่มีอยู่ใน MOU ที่เซ็นร่วมกัน
“ท่านอ้าง 14 ล้านเสียงที่ขอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผมเชื่อว่าคนที่ลงคะแนนให้ท่าน 14 ล้านเสียง ไม่คิดว่าท่านกำลังแก้กฎหมายให้สถาบันไม่เป็นสถาบันหลัก ถ้าท่านอ้าง14 ล้านเสียง หลายคนอ้าง 25ล้านเสียง แต่ในมุมมองของผม อยากฝากไปยังผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล คนไทยไม่ได้มีแค่ 14 ล้าน ไม่ได้มีแค่ 25 ล้านเสียง ท่านต้องเป็นนายกฯ ของคน 60 ล้านคน ต้องเป็นนายกฯ ของประเทศไทย ท่านต้องไม่เป็นนายกฯ ของรัฐบาลพรรคใดพรรคหนึ่ง อันนี้สำคัญที่สุด 14 ล้านเสียง ไม่ถึง 20% อย่าคิดว่ามันมากมาย เป็นประชาชนที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเรา แต่ท่านอย่าหลงระเริง คำว่า 14เสียง มันไม่ใช่เรื่องชี้ขาดของประเทศ ผมไม่ทราบว่าพรรคก้าวไกลมองสถาบันอย่าง ท่านเป็นความหวังของคนไทยที่จะเข้ามาบริหารบ้านเมือง ท่านละเพียงเรื่องเดียว ท่านไม่ต้องไปด่า ส.ว. ท่านไม่ต้องไปด่าฝ่ายตรงข้าม ท่านได้เป็นนายกฯ แน่ ถ้าไม่มี ม.112 ท่ายยังไม่ยอมเลย ผมอยากถามว่าพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล เกิดมาเพื่อแก้ ม.112อย่างเดียวหรือครับ มันมีเรื่องที่ต้องทำ ความเดือดร้อน ดังนั้น ถ้าท่านหลุดคำนี้คำเดียว ไม่ยุ่ง มาตรา112 ภูมิใจไทยจะลงให้ท่านครับ และไม่ร่วมรัฐบาลด้วย” นายชาดา กล่าว.-สำนักข่าวไทย