กรุงเทพฯ 11 ก.ค. – “พิธา” หารือสมาคมสายการบินประเทศไทย เร่งนำฝูงบินเข้าประเทศ-ทบทวนอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เชื่อมั่นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมลดค่าใช้จ่ายการเดินทางประชาชน
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เเละคณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เข้าพบหารือสมาคมสายการบินประเทศไทย โดยมีซีอีโอและผู้บริหารรวม 7 สายการบิน ร่วมหารือ ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์, สายการบินไทยสมายล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ในฐานะอุปนายกสมาคมสายการบินประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้เสนอข้อหารือพิจารณานโยบายที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเเข็งเเกร่ง ลดข้อจำกัด เเละเพิ่มขีดความสามารถให้กับธุรกิจสายการบิน ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ สู่การให้ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวเดินทางในภูมิภาค ซึ่งจะตอบโจทย์การให้บริการที่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบค่าโดยสาร ได้แก่
- การส่งเสริมนโยบายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เช่น การกำหนดอัตราที่เหมาะสมของภาษีสรรพสามิตน้ำมันเครื่องบิน (excise tax) ฯลฯ
- การเร่งแก้ไขอุปสรรคและข้อจำกัดของอุตสาหกรรมการบินไทย เช่น เร่งกระบวนการเพิ่มอุปทานของอุตสาหกรรมการบิน หรือขั้นตอนการนำเข้าเครื่องบิน การบูรณาการทำงานระหว่างสนามบินและสายการบิน
- การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมการบิน เช่น การเจรจาเพิ่มสิทธิการบิน ในประเทศกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวไทย การลดค่าธรรมเนียมวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว เป็นต้น
ทั้งนี้ การเดินทางทางอากาศถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจการท่องเที่ยวภาพรวมของประเทศ เพราะเป็นผู้เชื่อมต่อการสร้างเเละกระจายรายได้สู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ โดยปัจจุบันอยู่ในช่วงการฟื้นฟูที่สำคัญที่สุด ซึ่งต้องอาศัยทั้งการปรับตัวของสายการบิน เเละการสนับสนุนต่อเนื่องจากภาครัฐ โดยสมาคมสายการบินประเทศไทย ยืนยันความพร้อมเต็มที่ในการทำงานร่วมกับรัฐบาล เพื่อบรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน
ด้านนายพิธา กล่าวว่า ต้นทุนธุรกิจการบินที่เกี่ยวข้องกับภาษีต่างๆ โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (excise tax) สำหรับเครื่องบินไอพ่น ที่กรมสรรพสามิต กลับมาจัดเก็บในอัตรา 4.726 บาท/ลิตร ตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา จากที่เคยมีมาตรการช่วยเหลือเรียกเก็บในอัตรา 0.20 บาท/ลิตร ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนสายการบินเส้นทางในประเทศสูงขึ้น ซึ่งทางสมาคมฯ เตรียมยื่นให้กระทรวงการคลังทบทวนกลับมาจัดเก็บในอัตรา 0.20 บาท/ลิตร หรือทยอยเพิ่มภาษีตามอัตราขั้นบันได หรือกำหนดอัตราภาษีใหม่ที่เหมาะสม นั้น เรื่องนี้คงต้องมีการหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากภาษีสนามบินมีหลายตัว ต้องลงไปดูรายละเอียด สำหรับต้นทุนการกำกับกิจการ (Operating Cost) คิดเป็นต้นทุน 15-20% ของธุรกิจการบิน ต้องไปดูว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นต้นทุนที่สูงเกินไปหรือไม่ กระทรวงคมนาคมมีการพิจารณาอย่างไร
สำหรับโอกาสในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการทำฟรีวีซ่า เพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยว ต้องมีการหารือทั้งระดับมหภาคและจุลภาค ปัจจุบันนักท่องเที่ยวหายไป 30% แต่ถ้าไม่นับรวมนักท่องเที่ยวจีน เท่ากับว่าหายไป 20% จำเป็นต้องกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้กลับมา โดยเฉพาะอินเดีย เกาหลีใต้ และจีน ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน ไม่ให้การเดินทางกระจุกตัวที่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ต้องพยายามหาจุดสมดุลตรงนี้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่คิดเป็นต้นทุน 17% ของอุตสาหกรรมการบิน ปัจจุบันหลายสายการบินใช้บริการ MRO ในต่างประเทศ จึงต้องพิจารณาเปรียบเทียบการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจให้กับ MRO ต่างชาติ กับพัฒนา MRO ในไทยที่ขณะนี้มีอยู่ 2 แห่ง. – สำนักข่าวไทย