ทำเนียบ 20 มิ.ย.- “พล.อ.ประยุทธ์” เผยทำความเข้าใจกับวิศวกรรมสถานแล้ว เรื่องใดที่ไทยดำเนินการได้ พร้อมให้มีส่วนร่วม ยังไม่ตัดสินใจ แหล่งเงินกู้ เดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน ที่ต้องใช้เม็ดเงิน 1.74 แสนล้านบาท
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง แหล่งเงินกู้ในการเดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน ที่ต้องใช้เม็ดเงิน 1.74 แสนล้านบาท ว่า ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะกู้เงินจากจีนหรือไม่ เป็นเพียงข้อเสนอจากทางการจีนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจะพิจารณาจากแหล่งเงินกู้ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด รวมถึงพิจารณาแหล่งเงินกู้ในประเทศด้วย
“เรื่องเงินกู้ผมยังไม่เคยพูดเลยว่า จะไปกู้เงินใครมา ในประเทศก็มีพอสมควร ซึ่งจีนก็ไม่เคยเรียกร้อง เพียงแต่เสนอข้อพิจารณามาว่า ถ้าใช้ของเขาดอกเบี้ยเท่าไหร่ ก็เอามาเปรียบเทียบเงินกู้ที่ใช้จากแหล่งอื่นมันต่ำกว่าหรือไม่ ถ้าตรงไหนต่ำกว่าก็ใช่ตรงนั่น เขาไม่เคยมาบังคับตรงนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วงเงิน 1.74 แสนล้าน จะใช้ในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน 1.3 แสนล้าน และใช้บริหารจัดการการเดินรถอีก 4 หมื่นล้าน ในส่วนของสัญญาโครงการนี้ ไม่มีผลต่อรถไฟในเส้นทางอื่น ๆ เพราะรถไฟที่เหลืออาจจะดำเนินการในลักษณะอื่น ไม่ว่าจะเป็นไปประมูล ไปร่วมทุน หรือจะให้เอกชนลงทุนในรูป PPP แต่เส้นนี้ถือเป็นเส้นแรกที่ต้องเกิดขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ จะคิดเฉพาะรายได้จากการโดยสารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลจะเข้าไปดูข้อกฏหมาย เพื่อให้เกิดการพัฒนาประโยชน์จากสองข้างทางด้วย เชื่อว่าจะเกิดการลงทุนอื่น ๆ ตามมา รวมถึงเกิดเมืองใหม่ ซึ่งผลประโยชน์จะตกกับประชาชนโดยตรง
“วันนี้ผมให้แนวทางข้าราชการใหม่ทั้งหมด ต้องมองว่าจะเอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างไรต่อไปในอนาคต “make different for future” make different คือ ให้มันต่างจากของเดิม ส่วน for future ไม่ใช่มองวันนี้เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่มองข้อขัดแย้ง มองปัญหา มองเรื่องทุจริต ซึ่งเราพยายามแก้ทุกอัน เพื่อไป future วันนี้ทำงานแบบหาเป้าหมายให้เจอ ให้ตรงกลุ่ม ไม่ใช่ทั่งหมดโปรยปรายไปทั้งหมด เท่ากันหมด มันไม่ได้ แต่ต้องจัดสรรงบประมาณให้เหมาะกับทุกภาคส่วน ต้องเฉลี่ยรายได้ให้ลงมาสู่คนที่มีรายได้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลคิดมาตลอดเวลา ต้องมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่ต้องไม่ได้รับผลประโยชน์ลดลงจากเดิมที่เคยได้อยู่” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนข้อกังวลของวิศวกรรมสถาน ได้หารือกัน และทางวิศวกรรมสถานมีความเข้าใจแล้ว ซึ่งในประเด็นที่มีความกังวล ไม่ว่าเรื่องวิศวกร การถ่ายทอดเทคโนโลยี ทางการไทยได้เจรจามาโดยตลอด ซึ่งมีข้อตกลงมาแล้วถึง 18 ครั้ง ในกิจกรรมใดที่ไทยสามารถทำได้ ก็ให้ดำเนินการไปอยู่แล้ว แต่ติดเพียง 3-4 ข้อ ที่เป็นปัญหา จึงนำไปสู่การออกมาตรา 44 โครงการนี้ไม่ได้ให้ประโยชน์กับใครเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย