กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผย นักลงทุนจับตาการเลือกนายกรัฐมนตรี พร้อมเร่งดึงดูดการลงทุน หลังมูลค่าซื้อขายเบาบาง ครึ่งปีแรก ยิ้มออก แนวโน้มครึ่งปีหลัง หลายปัจจัยบวก เตรียมจับมือหลายหน่วยงาน ป้องกันหลอกลวงลงทุน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การคัดเลือกนยกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากมีความชัดเจน จะส่งผลต่อดัชนีราคาหุ้นไทย สำหรับแนวโน้มการลงทุนในครึ่งปีหลัง เริ่มมีสัญญาณในทางบวก จึงมีบริษัทยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจำนวนมาก และยังคาดว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4 จะออกมาดี แม้ยังเผชิญกับมรสุมจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว อีกทั้งปัญหาเงินทุนไหลออกเริ่มดีขึ้น คาดว่าจะไหลกลับเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจับมือร่วมกับ สำนักงาน ก.ล.ต. สมาคมธนาคารไทย สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน ร่วมรณรงค์จัดโครงการป้องกันการหลอกลวง ในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากมีปัญหาการหลอกลวง ชักจูงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเกิดขึ้นเยอะมาก จึงอยากให้นักลงทุน ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนให้ถูกต้อง และเกี่ยวข้องกับหุ้นที่ต้องการลงทุนอย่างไรบ้าง
ส่วนกรณีการอายัดทรัพย์ และเดินหน้าเอาผิดผู้บริหาร STARK นับว่าการร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งอีเอสไอ ก.ล.ต. มีคืบหน้าและประสานงานอย่างใกล้ชิด ทำให้กระบวนการดำเนินคดีคืบหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน เพราะหน่วยงานกำกับดูแลและตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการสร้างนักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น หลังจากได้จัดงาน SET In The City ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นับว่าคนรุ่นใหม่สนใจเข้ามาศึกษาการลงทุนจำนวนมาก จึงได้เปิดบัญชีการลงทุนเพิ่มขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องการนักลงทุนรายย่อยให้เพิ่มจาก 6 ล้านบัญชีในปัจจุบัน เพื่อดูดซับและลดผลกระทบจากปัญหาเงินทุนไหลเข้า-ออก ของนักลงทุนต่างชาติ และสร้างมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯเพิ่มขึ้น ยอมรับว่า ขณะนี้มูลค่าการซื้อขายเบาบางเนื่องจากหลายปัจจัยลุมเล้า
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยระยะสั้น หากขั้นตอนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี มีความชัดเจน จะส่งสัญญาณเหมือนกับการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตลาดหุ้นจะให้การตอบรับอย่างดี หากกระบวนการคัดเลือกยืดเยื้อหรือไม่สำเร็จ ตลาดหุ้นจะ ชะลอการลงทุน หรือหันไปพักการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอื่นแทน จากนั้น จะติดตามดูการประกาศนโยบายมีความชัดเจนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรบ้าง
สำหรับผลตอบแทนของสินทรัพย์ในแต่ละกลุ่มของช่วงครึ่งแรกปี 2566 พบว่า นักลงทุนมีความสนใจในสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นเติบโตและกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ อีกทั้งหุ้นกู้ High Yield ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้โดยรวมสะท้อนมุมมองผู้ลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจเห็นสัญญาณจากรัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นในภาคการคลังขนาดใหญ่เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ซบเซา อาจส่งผลบวกต่อบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับอานิสงส์จากการค้าขายกับจีนมาก รวมถึงภาคการท่องเที่ยว
ในเดือนมิถุนายน 2566 ธนาคารโลก (World Bank) คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัว ร้อยละ 3.9 มีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศและการท่องเที่ยว ยอมรับว่าความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยปรับลดลงจากต้นปี 2566 จากกรณีมีหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งผิดนัดชำระหนี้ ส่งผลให้ผู้ลงทุนมีความกังวลในการลงทุนทั้งในตลาดตราสารทุน และตราสารหนี้ จึงเห็นแรงเทขายในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่การเมืองในประเทศ เริ่มดีขึ้นหลังได้ประธานสภาฯ ส่งผลให้ดัชนีต่างๆ เริ่มปรับตัวดีขึ้น หากพิจารณาจากอัตราส่วน Forward PE ของ SET ยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ทำให้ผู้ลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศเริ่มกลับมาซื้อสุทธิในครึ่งแรกปี 2566
สำหรับ บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 SET Index ปิดที่ 1,503.10 จุดปรับลดลงร้อยละ 2.0 จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลงร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม ปรับตัวดีกว่า SET Index เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai จำนวน 47,893 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าร้อยละ 33.2 โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน 6 เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 58,670 ล้านบาท โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ห้า โดยในเดือนมิถุนายน 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 8,617 ล้านบาทอย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ในเดือนมิถุนายน 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค (BLC) และใน mai 2 หลักทรัพย์ได้แก่ บมจ. ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น (TBN) และ บมจ. ไทยพาร์เซิล (TPL) Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ระดับ 16.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.8 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 20.6 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 14.2 เท่า ขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ร้อยละ3.22 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.38 .-สำนักข่าวไทย