นนทบุรี 10 ก.ค.-กรมการค้าต่างประเทศเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ในเดือนมกราคม-เมษายนของปี 2566 มีมูลค่ารวม 25,831.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าขึ้นแท่นอันดับ 1 คือทุเรียนสด โดยใช้สิทธิฯ ส่งออกไปจีนเพิ่มสูง 85.31% สำหรับอาเซียนยังครองแชมป์ตลาดที่มีการใช้สิทธิฯ ส่งออกมากที่สุด ตามติดมาด้วยอาเซียน-จีน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-ออสเตรเลีย อาเซียน-อินเดีย และภายใต้กรอบ RCEP มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม421.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566 จำนวน 12 ฉบับ มีมูลค่ารวม 25,831.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึง 74.75% โดยทุเรียนสดเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปจีนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน มีมูลค่าสูงถึง 2,022.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มสูง85.31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า(มูลค่า1,091.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ตามผลผลิตและความนิยมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยกรมการค้าต่างประเทศได้มีการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงผู้ประกอบการไทยในภูมิภาคต่างๆ ให้ทราบถึงประโยชน์จากการใช้สิทธิ FTA โดยเฉพาะทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และกรอบความตกลงRCEP ซึ่งถือเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี
สำหรับกรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (มูลค่า 9,451.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 73.35% โดยเป็นการใช้สิทธิส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุด มูลค่า 2,553.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาเลเซีย มูลค่า 2,227.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เวียดนามมูลค่า 2,157.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ มูลค่า 1,577.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ (น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน) น้ำตาลเครื่องปรับอากาศ รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (1,500 – 3,000 cc)น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส เป็นต้น
อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) (มูลค่า 7,850.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 92.40% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ทุเรียนสดผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำตาล ฝรั่ง มะม่วง และมังคุดและชิ้นเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง เป็นต้น
อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) (มูลค่า 2,117.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 69.67% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่เย็นจนแข็ง เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช กุ้งปรุงแต่ง กระสอบและถุงทำด้วย โพลิเมอร์ของเอทิลีน ลวดและเคเบิลทำด้วยทองแดง เป็นต้น
อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) (มูลค่า 1,875.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 67.41%*โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด2,500cc ขึ้นไปและขนาด 1,000 – 1,500 cc ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และปลาทูน่าปรุงแต่ง เป็นต้น
อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) (มูลค่า 1,681.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ62.72% โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ลวดทองแดง สารประกอบออร์แกโน-อินออร์แกนิก ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ เครื่องรับสำหรับวิทยุกระจายเสียง โพลิ (ไวนิลคลอไรด์) และฟอยล์อะลูมิเนียมที่มีความหนาไม่เกิน 0.2 มิลลิเมตร เป็นต้น
สำหรับความตกลง RCEP*ในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 มีการส่งออกไปยัง 10 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 421.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 106.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง มันสำปะหลังเส้น หัวเทียน เลนส์ ปริซึม กระจกเงาฟล็อก ผงสิ่งทอ และมิลเน็ป เป็นต้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา ความตกลง RCEP ได้มีผลบังคับใช้กับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายที่ความตกลง RCEP ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย ส่งผลให้ขณะนี้ ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่ผู้ส่งออกไทยได้มีทางเลือกในการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ต่างๆ ที่ไทยมีอยู่ได้มากขึ้น โดยหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผู้ส่งออกสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทรสายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อบัญชี “@gsp_helper ได้.-สำนักข่าวไทย