กรุงเทพฯ 16 มิ.ย. – “สฤณี” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เสนอ ไอทีวี แก้ไขรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น-แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ให้ถูกต้อง แนะกรรมการอิสระตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใส
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทย ถึงกรณี บมจ.ไอทีวีเผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านเว็บไซต์ไอทีวี ใน 3 ประเด็น เมื่อ 15 มิ.ย.2566 ว่ายังมีบางประเด็นที่มีคำอธิบายยังไม่ชัดเจน และยังไม่มีการแจ้งแนวทางดำเนินการต่อ โดยสรุปได้ดังนี้
1.ประเด็น รายงานการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี วันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ไอทีวีชี้แจงว่าเป็นการสรุปสาระสำคัญของคำถามและคำตอบในการประชุม ไม่ได้จดบันทึกคำต่อคำ นั้น หากได้เห็นจากคลิปการประชุมที่มีการเผยแพร่ จะเห็นว่า 2 คำถามสุดท้ายในคลิป กับในบันทึกรายงานการประชุมมีการเปลี่ยนถ้อยคำที่ผิดไปจากเดิมค่อนข้างมาก เช่น คำตอบ”ไม่ได้ดำเนินการใดๆ” กลับถูกบันทึกเป็น “ยังดำเนินการตามวัตถุประสงค์…” ดังนั้นรายงานนี้ถ้าไม่แก้ น่าจะเข้าข่าย”รายงานการประชุมเท็จ” จึงเห็นว่าไอทีวีควรแก้ไขรายงานการประชุมให้ถูกต้อง
2. แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) หรือใบปะหน้า นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 น่าจะเข้าข่าย “เอกสารเท็จ” เนื่องจากระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ทั้งที่ไอทีวีไม่ได้ทำธุรกิจนี้ และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลยในปี2565 ถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น ไอทีวีควรเร่งส่งแบบฟอร์มฉบับแก้ไขให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเร็ว และกกต. ไม่ควรพิจารณาแบบ ส.บช.3 ที่ถูกนำไปยื่นร้อง
3. ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ที่ไอทีวีระบุว่าเป็นเอกสารภายในบริษัทเท่านั้น จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ ซึ่งหากเป็นเอกสารชุดเดียวกับที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นำไปยื่นร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) ก็แสดงว่าไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ล่าสุด จากการตรวจสอบพบว่าลิงก์ดาวน์โหลดร่างงบการเงินไตรมาส 1/2566 หายไปจากเว็บไซต์แล้ว
ทั้งนี้มองว่า บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (INTUCH) ในฐานะบริษัทแม่ ควรออกมาดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบ (audit committee) ของบริษัทฯ เป็นกรรมการอิสระโดยตำแหน่งสามารถดำเนินการตรวจสอบได้โดยไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือผลประโยชน์ทับซ้อน
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีอำนาจสั่งการให้ INTUCH ชี้แจงต่อ ก.ล.ต. เมื่อเห็นว่าส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นใน INTUCH และ ไอทีวี ก็สามารถร้องขอให้ทางบริษัทตรวจสอบกรณีดังกล่าวได้ ขณะที่ทางบริษัทเองก็ควรดำเนินการตรวจสอบเรื่องการนำเอกสารภายในขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่าหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ลงนามโดย “คณะกรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ไม่ได้ระบุชื่อบุคคล มองในแง่ดีแสดงให้เห็นว่า เป็นการพิจารณาและชี้แจงร่วมกันจากคณะกรรมการ บมจ.ไอทีวี ทั้งหมด 5 คน โดยไม่จำเป็นต้องลงลายมือชื่อคณะกรรมการทั้ง 5 คน.-สำนักข่าวไทย