สธ. 23 พ.ค. – แพทย์หนุนกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ห่วงเยาวชนได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารผสมกัญชา แม้ที่ผ่านมามีข้อกฎหมาย แต่ไม่ชัดเจน สับสนพอกับบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยการตลาดหรือเสรีภาพเรื่องการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแสดงความคิดเห็นกรณีเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมือง โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ระบุนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดว่า เรื่องกัญชาและบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มกุมารแพทย์ฯ ไม่เห็นด้วยทั้งคู่ ที่ผ่านมาเห็นด้วยกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์ เพื่อใช้ในการรักษาบรรเทาอาการปวด แต่รัฐบาลเก่า หรือรัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้น บอกว่าทางการแพทย์ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีเรื่องอื่นมาด้วย ทำให้มีการกำหนดค่า THC เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อื่น หรือแม้แต่ขนมที่มีการผสมกัญชา หรือร้านกัญชาเกิดขึ้น แต่การออกกฎหมายบังคับใช้ก็สับสนไม่ชัดเจน เช่น ห้ามหญิงตั้งครรภ์ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือรับประทาน อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา ทำไมไม่ห้ามแบบเด็ดขาดไปเลย ว่า ห้ามมีส่วนผสมของกัญชาในอาหารปรุงเองในแบบครัวเรือน หรือร้านอาหาร เพราะในความเป็นจริงอาหารแบบนี้ควบคุมยาก ไม่เหมือนการควบคุมอาหารเชิงอุตสาหกรรม มีแบรนด์ ที่ต้องกำหนดสัดส่วนชัดเจน และจำหน่ายภายใต้การกำกับดูแลของ อย.
ส่วนข้อกังวลลงทุนไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องกัญชาของผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของร้านกัญชา หรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง รศ.นพ.อดิศักดิ์ เชื่อว่าธุรกิจมีความยืดหยุ่น และผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ การปลูกกัญชาทางการแพทย์ใช้ประโยชน์ได้มากกว่า เพราะยาระงับปวดจากกัญชาให้ผลดี กรณีอย่างการรักษามะเร็งหลังโพรงจมูก ส่วนบุหรี่ไฟฟ้า ขอย้ำว่ามีสารนิโคติน เป็นอันตราย ใคร ๆ ก็เข้าใจกันมานาน แต่ทุกวันนี้มีการลักลอบจำหน่ายทางอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่าย สารพิษจากบุหรี่ไม่ได้มีส่วนไหนเป็นประโยชน์กับร่างกายเลย ไม่ว่าจะมาใช้ในเด็กหรือผู้ใหญ่ การทำการตลาดของบุหรี่ ก็มีความเปลี่ยนแปลง โดยใช้ข้อมูลและข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพทางการตลาดเข้ามา ตรงนี้ไม่ถูกต้อง จะมาให้ผู้บริโภคเลือกว่าจะเลือกใช้บุหรี่แบบไหน เพราะสิ่งที่ใช้ไม่มีประโยชน์ และอันตรายทั้งคู่ เรื่องบุหรี่ไฟฟ้า จึงไม่ใช่เรื่องเสรีภาพของผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะเป็นสินค้าที่มีอันตราย.-สำนักข่าวไทย