สธ. 22 พ.ค. – จิตแพทย์ วอนยึดหลัก 1 เตือน 2 ไม่ หวั่นสังคมส่งต่อความรุนแรง ทั้งข้อความเกลียดชังและข่าวเท็จจริง เพิ่มอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนขึ้น กลายเป็นชุมนุมได้ ย้ำเห็นต่างไม่มีถูกผิด และทุกคนต่างหวังดีกับประเทศ ส่วนการจับขั้วทางเมือง ต้องเข้าใจเสียงส่วนมาก แม้เป็นประชามติ แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นคนอื่น
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวเรียกร้องให้สังคมยึดหลัก 1 เตือน 2 ไม่ ในการสนทนาและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันพบการส่งต่อข้อความ หรือ ถ้อยคำที่รุนแรง หรือแสดงความเห็นเหยียดคนที่เห็นต่างทางการเมือง อยากให้สังคมไทยก้าวข้ามผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ หากทุกคนยอมรับความเห็นต่างก็จะทำให้ประเทศพัฒนาไปข้างหน้า และดีกว่าเข้าสู่วังวนความขัดแย้งเดิม และอยากให้ต่างคนต่างมองกันในแง่ดี ว่าทุกคนต่างหวังดีกับประเทศ ไม่ใช่จำกัดแค่คนที่มีความคิดแบบนี้ถึงหวังดีกับประเทศเท่านั้น และอย่าไปได้เครียดกับสถานการณ์บ้านเมืองจนเกินไป ส่วนการลุ้นการจับขั้วทางการเมือง ต้องเข้าใจว่า เสียงส่วนมาก เป็นประชามติ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่น ความเห็นต่างไม่ใช่เรื่องของถูกผิด
นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดปัญหาการส่งต่อข้อความเกลียดชัง (Hate Speech) ความรุนแรง และข้อความเป็นเท็จ (Fake news) จึงอยากให้ทุกคนใช้หลัก 1 เตือน 2 ไม่ ได้แก่ 1 เมื่อเจอข้อความรุนแรงในโลกออนไลน์ ต้องเตือนให้เขาหยุดทำพฤติกรรมนี้ทันที โดยเป็นการเตือนด้วยถ้อยคำที่สุภาพ ไม่หยาบคาย เพื่อไม่ให้ส่งต่อความเกลียดชัง หากเตือนด้วยความรุนแรง ก็จะกลายเป็นการทะเลาะกัน ส่วน 2 ไม่ คือ ไม่ ผลิตข้อความรุนแรง และไม่ส่งต่อข้อความรุนแรง
ทั้งนี้เชื่อว่า หากสังคมไทยไม่ผลิตข้อความรุนแรง ไม่ส่งต่อความเกลียดชัง และต้องเข้าใจว่าความเห็นต่างทำให้เกิดการพัฒนา และหลายประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าก็ล้วนแต่เคยผ่านความเห็นต่างมาแล้ว ส่วนที่มองว่าในอนาคต ความขัดแย้งทางการเมืองจะนำไปสู่การชุมนุมและความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถนน เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่นั้น มองว่า ขณะนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ แบบ 50 : 50 หากช่วยการหยุดการส่งต่อข้อความรุนแรงและเกลียดชัง ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเหมือนในอดีต ที่ออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน และเชื่อว่าตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมาย รู้แนวทางปฏิบัติตามหลักกฎหมายมาแล้ว เนื่องจากผ่านมาแล้วหลายการชุมนุม อย่างไรก็ตามในการติดตามรับชมข่าวทางการเมือง ขอให้รับชมจากสื่อกระแสหลัก เพราะมีกองบรรณาธิการในการกลั่นกรอง ดีกว่าการรับชมสื่อเลือกข้าง เพราะจะได้รับข่าวสารที่หลากหลาย .-สำนักข่าวไทย