กรุงเพทฯ 7 มิ.ย.-กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เร่งแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ ส.ป.ก.ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมเพื่อไม่ให้กระทบความมั่นคงพลังงานระยะยาว ชี้รัฐอาจสูญรายได้หมื่นล้านบาท/ปี กระทบมูลค่าปิโตรเลียม 17,000 ล้านบาท/ปี ด้าน รมว.พลังงานย้ำแก้ปัญหาได้ 1-2 วันนี้
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผย ถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 ให้เพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่องการให้ความยินยอมในการนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามกฎหมายอื่น ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (พื้นที่ ส.ป.ก.) ว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะส่วนราชการที่กำกับดูแลและบริหารจัดการให้ผู้รับสัมปทานดำเนินตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาศัยอำนาจตามมาตร 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 สั่งให้ผู้รับสัมปทานหยุดดำเนินกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก. จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ เพื่อมิให้ขัดต่อข้อกฎหมายและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1. บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย 3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์
4.บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ต แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า จากการหยุดการผลิตของบริษัทผู้รับสัมปทานดังกล่าว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศ ประเมินความเสียหายเบื้องต้น คือ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาทต่อวัน(17,000ล้านบาท/ปี ) ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาท/วัน (9,490 ล้านบาท/ปี )และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาท/วัน (1,295 ล้านบาท/ปี)
อย่างไรก็ตาม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยขณะนี้ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเป็นหลักสำคัญโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงานให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่าเร่งหาทางออกภายใน 1-2 วัน โดยอยู่ระหว่างหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนจะใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 หรือไม่ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งกำลังผลิตที่หายไปส่งผลให้โรงไฟฟ้าลานกระบือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 30 เมกะวัตต์ ต้องหยุดเดินเครื่อง อย่างไรก็ตาม กฟผ.บริหารจัดการทำให้ไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าภาครัฐจะหาทางแก้ไขปัญหาได้ โดยสัมปทานแหล่งเอส1 ที่บริษัทได้มานั้น เป็นการประกาศพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม ก่อนการประกาศพื้นที่ ส.ป.ก. -สำนักข่าวไทย