ทำเนียบฯ 25 เม.ย.-ครม. กำชับสำนักงาน อีอีซี เร่งรัดลงทุน 5 โครงการขนาดใหญ่ คาดผังเมืองรวมบังคับใช้ปี 67 มุ่งบริการ e-Service ให้นักลงทุน ผู้ประกอบการ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เร่งรัดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในการลงทุน ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List ) 5 โครงการ โดยทุกโครงการมีความก้าวหน้า ดังนี้ (1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีการส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนตามคู่สัญญาดำเนินการ มีการออกแบบและการก่อสร้างโครงการพื้นฐาน (2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 และทางขับที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ เช่นระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย
(3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F เช่น มีการถมทะเล มีการสร้างอาคารท่าเทียบเรือชายฝั่งและมีการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ (4) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายในงานถมทะเล เป็นต้น (5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) มีการชะลอโครงการ เนื่องจาก การบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการและมีสถานะเป็นเอกชน
นับว่า เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน EEC มี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีการจัดตั้ง ไปแล้ว 7 เขต เช่น เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก(EECa) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรม และนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และ 2) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม มีการประกาศจัดตั้งแล้ว รวม 28 เขต เช่นนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์น เป็นต้น ทุกแห่งได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว
ในส่วนแผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC แบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 4 กลุ่ม ตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ 1. พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 2. พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 3. พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และ 4. พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองรวมระดับอำเภอรวม 30 อำเภอ ในพื้นที่ EEC โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ทั้งหมดภายในปี 2567
ด้านความก้าวหน้าโครงการ EECi และ EECd อาทิ มีการก่อสร้างกลุ่มอาคารในการพัฒนาพื้นที่ของ EECi เพื่อรองรับพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ และ โครงการ EECd มีการจัดโซนนิ่งเพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์ เป็นต้น การให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC – OSS) เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่ EEC รวม 44 งานบริการ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การขอขยายกิจการ และการต่ออายุ ใบอนุญาต มีการดำเนินงานร่วมกับ อปท. และร่วมกันพัฒนางานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่
ด้านการชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษเพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ ได้กำหนดกิจกรรมเพื่อชักจูงนักลงทุนเป้าหมายจากประเทศต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนจำนวน 18 ประเทศทั่วโลกและหนึ่งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักรสาธารณรัฐฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย เป็นต้น โดยเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรมและ 1 แนวคิด คือ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว.-สำนักข่าวไทย