21 เมษายน 2566
เรียบเรียง : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
โรคลมแดด หรือ ฮีตสโตรก (Heat Storke) เกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ และทุกวัยด้วย
พบได้บ่อยในช่วงหน้าร้อน เกิดจากการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ เมื่อเกิดอาการควรได้รับการรักษาในทันที เพราะอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า อาจทำให้อันตรายถึงแก่ชีวิต
กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน ของวันที่ 21-13 เมษายน พ.ศ. 2566 หลายพื้นที่ค่าดัชนีความร้อนสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส และมีบางพื้นที่อุณหภูมิสูงมากกว่า 50 องศาเซลเซียส
ดัชนีความร้อน คืออะไร
“ดัชนีความร้อน” คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้นว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนคำนวณมาจากค่าอุณหภูมิอากาศและค่าความชื้นสัมพัทธ์ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้
เนื่องจากช่วงนี้ค่าดัชนีความร้อนสูงมากหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน จึงมีการเตือนภัยหลายระดับดังต่อไปนี้
สีเขียว เฝ้าระวัง ดัชนีความร้อน 27.0-31.9 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ อ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อนหรือออกกำลังกาย หรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
สีเหลือง เตือนภัย ดัชนีความร้อน 32.0-40.9 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
สีแสด อันตราย อุณหภูมิ 41.0-53.9 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้องหรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
สีแดง อันตรายมาก ดัชนีความร้อน มากกว่า 54 องศาเซลเซียส เกิดภาวะลมแดด (Heat stroke)ฮีตสโตรก (Heat Stroke) เป็นขั้นสุดของกลุ่มโรคการบาดเจ็บจากความร้อน หรืออุบัติเหตุจากความร้อน คือสิ่งแวดล้อมส่งผลกับร่างกายของเรา เหมือนดัชนีความร้อนส่งผลกับร่างกายของเรา
เด็กกับโรคลมแดด
ฤดูร้อนหลายพื้นที่อากาศร้อนมากเป็นพิเศษ เป็นช่วงปิดเทอมด้วย เด็กเล็กร่างกายยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอ และอาจปรับตัวไม่ทัน ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ได้แก่ โรคลมแดด เนื่องจากร่างกายของเด็กยังปรับตัวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ อาจสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย
ถ้าอุณหภูมิร่างกายของเด็กสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะอื่น ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะเหล่านั้นล้มเหลว จนเสียชีวิตได้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นและหากพบความผิดปกติควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำการป้องกันลมแดดในเด็ก วันที่อากาศร้อนมาก ดังนี้
1.ดื่มน้ำบ่อย ๆ ทุกชั่วโมง
2.สวมชุดเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เลือกสีอ่อน ๆ
3.ลดกิจกรรมที่ต้องออกแรงหรือใช้กำลังกลางแจ้ง
4.สวมหมวกหรือใช้ร่มเมื่ออยู่ในที่กลางแจ้ง
5.ไม่ควรทิ้งเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง
6.สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก เช่น ตัวร้อนจัดแต่เหงื่อไม่ออก ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการชัก หรือหมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบนำเด็กเข้าร่มในทันที
การดูแลเบื้องต้น กรณีเด็กเป็นลม
1.ให้เด็กนอนราบแล้วยกเท้าทั้งสองข้างให้สูง เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น
2.หากเด็กยังมีสติอยู่บ้าง ควรให้เด็กได้จิบน้ำบ่อย ๆ
3.ทำให้ร่างกายเย็นด้วยการเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น
4.รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อทุกคน การป้องกันตนเองและคนใกล้ตัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง
ข้อมูลจาก : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
เรียนรู้เพิ่มเติมจาก :
รายการชัวร์ก่อนแชร์ LIVE : HEAT STROKE วิธีรับมือโรคจากความร้อน
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter