กรุงเทพฯ 5 เม.ย.- กรมอุตุนิยมวิทยาแจงผลคาดการณ์ “ดัชนีความร้อน” เขตบางนาอาจถึง 50.2 องศาเซลเซียส เหตุทั้งอุณหภูมิสูงและรับความชื้นสูงจากทะเล ย้ำเป็นผลคาดการณ์ “ดัชนีความร้อน” เฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ทั่วประเทศ ชี้จำเป็นต้องแจ้งเตือนเพื่อให้ประชาชนระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะภาวะลมแดดหรือ Heat stroke
นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวถึงผลการคาดการณ์ “ดัชนีความร้อน” หรือ HEAT INDEX (HI) วันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ที่อาจสูงมาก โดยสูงสุดที่เขตบางนา กรุงเทพฯ 50.2 องศาเซลเซียสว่า เป็นการคาดการณ์จากแบบจำลองสภาพอากาศ แต่ไม่ใช่อุณหภูมิที่คาดว่า จะตรวจวัดได้
ทั้งนี้ “ดัชนีความร้อน” เรียกง่ายๆ ว่า อุณหภูมิที่เรารู้สึกนั่นเองได้ โดยเป็นดัชนีความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิคาดการณ์หรืออุณหภูมิตรวจวัดได้กับความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ถ้าอากาศยิ่งร้อนและความชื้นยิ่งสูง อุณหภูมิที่เราสัมผัสหรือรู้สึกได้จะสูงด้วย โดยสูงกว่าอุณหภูมิคาดการณ์หรือที่ตรวจวัดได้
สาเหตุที่เขตบางนาอาจมี “ดัชนีความร้อน” สูงมากเนื่องจากอุณหภูมิคาดการณ์สูงและได้รับความชื้นสูงจากทะเล โดยคาดการณ์ว่า อุณหภูมิสูงสุดที่ตรวจวัดได้จะอยู่ระหว่าง 36-37 องศาเซลเซียส ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศอยู่ระหว่าง 60-67% ทำให้ “ดัชนีความร้อน” สูงสุดที่คาดการณ์อยู่ระหว่าง 49-50.2 องศาเซลเซียส ส่วนพื้นที่ที่ “ดัชนีความร้อน” สูงเป็นอันดับ 2 คือ แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี 49.4 องศาเซลเซียส อันดับ 3 คือ ภูเก็ตที่ 47.9 องศาเซลเซียส โดย 3 ลำดับแรกเป็นพื้นที่ใกล้ทะเลทั้งสิ้น ส่วนอันดับ 4 คือ จังหวัดศรีสะเกษ และอันดับ 5 คือ จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นที่พื้นที่ที่คาดว่า อุณหภูมิที่ตรวจวัดได้จะสูง แต่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่สูง
สำหรับ “ดัชนีความร้อน” ที่คาดการณ์ไว้ เป็นการคาดการณ์เฉพาะพื้นที่ ไม่ใช่ผลคาดการณ์ทั่วประเทศ แต่จำเป็นต้องเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน โดยกรมอนามัยได้ให้ข้อมูลระดับผลกระทบจาก “ดัชนีความร้อน” ดังนี้
- 27 – 32 องศาเซลเซียส จะอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน เฝ้าระวัง ออกกำลังกายหรือใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน
- 32 – 41 องศาเซลเซียส จะเกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion)
- 41 – 54 องศาเซลเซียส จะมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดอันตรายจากภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
- มากกว่า 54 องศาเซลเซียส เป็นระดับที่อันตรายมาก จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวเพิ่มเติมว่า สภาพอากาศที่มีความชื้นสูงนั้น ทำให้ร่างกายระบายเหงื่อได้ไม่ดี เมื่ออุณหภูมิที่ตรวจวัดได้สูงด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกร้อนอบอ้าวมาก แต่ระหว่างวันที่ 6 – 9เมษายน บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ แล้วพัดนำความชื้นเข้ามา ปะทะกับหย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนที่ปกคลุมอยู่ประเทศไทยอยู่ ส่งผลเกิดพายุฤดูร้อน เมื่อฝนตกลงมาจะช่วยผ่อนคลายความร้อนได้บ้าง แต่ต้องระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง ลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ไว้ด้วย.-สำนักข่าวไทย