ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ 1 มิ.ย. – ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ เผยผลตรวจเลือดสาววัย 23 ปี กินยาต้านไวรัสเอชไอวี ปรากฏเป็นลบ ไม่ติดเชื้อ เตรียมเดินหน้าเรียกร้องขอความเป็นธรรม ก.สาธารณสุข ขอให้สอบวินัยร้ายแรงแพทย์ที่ทำการตรวจรักษาในวันจันทร์หน้า
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วย นพ.สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ทนายความ และ น.ส.สุทธิดา แสงสุมาตร ร่วมกันแถลงข่าว และตรวจเลือดพิสูจน์หาเชื้อเอชไอวีในร่างกาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ร้อยเอ็ด มานาน 19 ปี โดยทางโรงพยาบาลระบุว่า น.ส.สุทธิดา ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ต้องรับยาต้านไวรัส ซึ่งการตรวจเลือดครั้งนี้เป็นการพิสูจน์ชัดต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อหวังลดข้อสงสัยและการตีตรา
สำหรับการตรวจหาเชื้อไวรัสครั้งนี้ ใช้วิธีการตรวจหา 2 วิธี ได้แก่ 1. Rapid test ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็ว ใช้เวลา 20-30 นาที และจะมีการตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธีที่ 2 คือ การตรวจหา Antibody เรียกว่า Forth Generation เป็นการตรวจยืนยันระดับลึก ซึ่งเป็นการตรวจหาภูมิคุ้นเคยต่อเชื้อ ผลปรากฏว่า การตรวจทั้ง 2 วิธี ให้ผลเป็นลบ
นายสงกานต์ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสเอชไอวี ปรากฏชัดต่อสื่อมวลชนแล้ว จากนี้จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายนนี้ สิ่งที่จะเดินหน้าเรียกร้องจากนี้ คือ การขอความเป็นธรรมให้กับ น.ส.สุทธิดา และต้องการให้มีการสอบวินัยร้ายแรงแก่แพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นแบบอย่างต่อไป
น.ส.สุทธิดา กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ความจริงเปิดเผย ไม่ต้องมีความสงสัยต่อไป เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวและลูกทั้ง 2 คน กล้ายืนอยู่ในสังคมต่อไปได้ ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาที่ทราบว่าตนป่วยหรือได้รับเชื้อเอชไอวีนั้น ถูกสังคมตีตรา ตั้งข้อรังเกียจ บางครั้งไม่อยากไปโรงเรียน โดนเพื่อนล้อ ต้องแกล้งป่วย ทำให้เสียโอกาสด้านการศึกษา ทั้งที่ตอนเด็กฝันอยากเป็นหมอ
สำหรับการกินยาต้านไวรัสนั้น ได้รับการตรวจติดเชื้อตั้งแต่อยู่ชั้นประถมศึกษา ทราบตอนอายุ 8 ขวบ หรือประมาณปี 2545 แต่รับประทานยาตอนไหนก็ยังไม่สามารถระบุช่วงอายุได้ และต้องรับประทานยาเช้า-เย็น เนื่องจากประวัติการรักษาได้หายไป แต่เลิกรับประทานยาในปี 2555 การรับประทานยาต้านไวรัส ทำให้ต้องเผชิญกับผลข้างเคียง ทั้งปวดศีรษะ ผมร่วง
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวว่า การตรวจยืนยันเชื้อครั้งนี้ แตกต่างกับการตรวจเลือดผู้ติดเชื้อทั่วไป และหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้สังคมเลิกตีตราผู้ติดเชื้อ เพราะหากไม่มีการตีตราก็คงไม่กระทบต่อชีวิตของผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม กรณี น.ส.สุทธิดา ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเทคโนโลยีการตรวจหาเชื้ออาจไม่รวดเร็วแม่นยำเหมือนปัจจุบัน การตรวจด้วยเครื่องมือในอดีตก็อาจแกว่งไม่เสถียร สำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จากการตรวจหาเชื้อ ต้องตรวจซ้ำอีกอย่างน้อย 2 ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม เครื่องมือทุกอย่างก็สามารถผิดพลาดได้
ศ.กิตติคุณ นพ.ประพันธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการรับยาต้านไวรัสทุกครั้ง ก็ต้องมีการตรวจหาระดับภูมิต้านทานเม็ดเลือดขาว หรือ CD4 ปกติต้องมีการตรวจซ้ำทุก 6 เดือนเป็นมาตรฐาน แต่กรณี น.ส.สุทธิดา ในเวชระเบียน เมื่อปี 2550 ระบุว่า ระดับ CD4 มีแค่ 122 ต่ำกว่าระดับคนปกติ จึงเป็นเหตุผลในการพิจารณาจ่ายยาต้านไวรัส ส่วนสาเหตุที่ CD4 ต่ำ อาจเกิดจากอาการป่วยได้หลายสาเหตุ แต่ปกติของคนที่มีระดับ CD4 ต่ำ ด้วยการรับเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อตรวจหาผลเลือดในร่างกายก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง พร้อมกันนี้ยังยืนยันด้วยว่า จากการดูอาการเบื้องต้นของ น.ส.สุทธิดา ทางกายภาพ เชื่อว่าไม่ได้รับผลกระทบจากยาต้านไวรัสแน่นอน
ด้าน นพ.สมบัติ กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะนำเรื่องนี้แจ้งต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือกับ น.ส.สุทธิดา และทนายความต่อไป โดยจะหารือกันในวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายนนี้
ส่วนบรรยากาศการตรวจเลือดพิสูจน์ น.ส.สุทธิดา ร้องไห้ด้วยความยินดี เมื่อผลเลือดออกมา พร้อมระบุก่อนหน้านั้นว่า มีการตรวจเลือดมาแล้วรวม 4 ครั้ง เมื่อครั้งตั้งท้องบุตรคนที่ 1 และคนที่ 2 กับโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ รวมถึงตรวจกับศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย อีก 2 ครั้ง ผลก็เป็นลบ.-สำนักข่าวไทย