กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – กรมการแพทย์ชี้เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ สำหรับฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากส่งผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจและพัฒนาการทางสมอง พร้อมแนะวิธีป้องกัน
นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งขนจมูกไม่สามารถกรองได้ และอาจมีสารพิษเกาะติดมาด้วย สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจเข้าไปยังถุงลมและแทรกซึมผ่านเข้าไปยังหลอดเลือดฝอยและเข้าสู่กระแสเลือดได้ ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น ไปรบกวนการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ระยะสั้น ได้แก่ ไอ จาม ระคายเคืองตา แสบตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง เกิดผื่นคัน และก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ มะเร็งปอด ระบบหัวใจและหลอดเลือด หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง คลอดก่อนกำหนด ทารกคลอดน้ำหนักตัวน้อย นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อพัฒนาการและระบบสมองของทารก
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า การดูแลและป้องกันเด็กให้ปลอดภัยจาก PM 2.5 ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลควรติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ ดูแลให้เด็กดื่มน้ำสะอาด 8-10 แก้วต่อวัน ปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิดและเปิดพัดลมให้อากาศหมุนเวียน ไม่จอดรถและติดเครื่องยนต์นานบริเวณบ้าน เมื่อ PM 2.5 อยู่ในระดับมากกว่า 26 มคก./ลบ.ม. ดูแลเด็กให้หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน หากจำเป็นต้องออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกัน PM 2.5 สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัวควรดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก ให้รีบไปพบแพทย์.-สำนักข่าวไทย