26 มี.ค. – รองเลขาธิการ UN ชื่นชมกระทรวงมหาดไทยน้อมนำแนวพระดำริเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ “หมู่บ้านยั่งยืน” และ Fashion Sustainability มุ่งขับเคลื่อนขยายผล Best Practice บ้านโก่งธนู-ดอนกอย สู่หมู่บ้านยั่งยืนทั่วประเทศ พร้อมยกย่องการขับเคลื่อนตามแนวพระดำริสอดคล้องเป้าหมาย SDGs ที่มีคุณภาพ พร้อมจับมือเป็น Partnership เดินหน้าเผยแพร่เป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่น ๆ ในเวทีสหประชาชาติต่อไป
วันนี้ เวลา 09.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้การต้อนรับ คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการองค์การสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และคณะผู้แทนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่บ้านเกาะหมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู และวัดญาณเสน ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สกลนคร ปัตตานี พัทลุง คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า พวกเราชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,058 หมู่บ้าน มี Passion ในการน้อมนำเอาแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หมู่บ้าน” ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดให้เป็นหมู่บ้านที่ยั่งยืน ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นความมุ่งมั่น (Commitment) ที่พวกเราต้องการให้เกิดการ Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 65 ล้านคนให้สำเร็จก่อนเป้าหมายที่ทุกประเทศสมาชิก UN ตั้งเป้าไว้ในปี 2573
“พื้นที่บ้านเกาะ หมู่ที่ 5 ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรีแห่งนี้ เป็น Best Practice ที่เป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเพื่อความยั่งยืนและเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) ของกระทรวงมหาดไทย ในการบูรณาการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 (2030 Agenda for Sustainable Development) โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” โดยนำพื้นที่สาธารณะมาปลูกไม้ผลเต็มพื้นที่ และต่อมาด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงน้อมนำเอาสิ่งที่เป็นความสำเร็จของตำบลโก่งธนู คือ ความมั่นคงด้านอาหาร และน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องของการนำเอาภูมิปัญญาผ้าไทย มาส่งเสริมก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทรงเชื้อเชิญดีไซเนอร์และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะทำงาน และขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือกับ UN เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนได้บริหารจัดการขยะดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ทุกครัวเรือนได้คัดแยกขยะโดยคัดแยกขยะเปียก (Food Waste) เพื่อลงสู่ถัง “ขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งเป็นแนวคิดของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ต่อยอดการหมักปุ๋ยในลักษณะระบบเปิด คือ ทำเสวียน สู่การทำถังขยะระบบปิด ต่อมาจึงเรียกว่า “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งดี ๆ จำนวนมากในอดีตเป็นการขับเคลื่อนโดยการนำของระบบราชการและเป็นการทำงานแบบแยกส่วน เช่น ถ้าปลูกผักก็เด่นเรื่องปลูกผัก แต่เรื่องการบริหารจัดการขยะก็ไม่ได้ทำ เรื่องของการส่งเสริมผ้า เราก็ส่งเสริมในเรื่องของการผลิต แต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาต่อยอด แต่ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงองค์รวมของคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย พระองค์จึงพระราชทานโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และทรงอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยน้อมนำไปขับเคลื่อน โดยมีแรงหนุนเสริมสำคัญจากคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงาน UN ประจำประเทศไทย และคณะ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่ครอบครัวพี่น้องประชาชนในเชิงคุณภาพ โดยเน้นให้เกิดการทำงานแบบ Partnership (ภาคีเครือข่าย) ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีความคึกคักและเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เป็นการตอกย้ำว่า สิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์กับ UN เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชิญชวนทุกภาคส่วนของสังคมมาเป็นคณะทำงาน ทั้งผู้นำศาสนาพุทธคือพระ ผู้นำศาสนาอิสลามคือโต๊ะครู ฯลฯ และนักธุรกิจเอกชน นักวิชาการ ผู้นำ NGO สื่อมวลชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่าง ๆ ส่วนในระดับอำเภอ ท่านนายอำเภอก็ไปสร้างทีม Change Agent ผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือ “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ซึ่งปัจจุบันนี้ผลที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือ ประชาชนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง
ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้ครัวเรือนทั้งประเทศไทย มีประมาณ 15 ล้านครัวเรือน จำนวนนี้เป็นครัวเรือนที่ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ลดรายจ่าย มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภค มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรักสามัคคีในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มากถึง 14 ล้านครัวเรือน อันเป็นหลักประกันว่าไม่ว่าจะเกิดภัยใด ๆ เราจะมีอาหารรับประทานตลอด 365 วัน นอกจากนี้ ยังลดรายจ่ายของครัวเรือนวันละ 50 บาท หรือปีละ 255,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจที่พี่น้องประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากนี้แล้ว กว่า 13.8 ล้านครัวเรือน มีการคัดแยกขยะ และนำขยะเปียกไปใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 5.4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และขยะเปียกเหล่านั้นจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักหรือสารบำรุงดิน เพื่อช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ลำพังกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 คน นายอำเภอ 878 อำเภอ ร่วมกับภาคีเครือข่ายใน 7,255 ตำบล คงไม่สามารถทำงานที่เป็นผลเป็นรูปธรรมเช่นนี้ได้ ถ้าไม่มีหลักชัยหรือแม่เหล็กแห่งการทำให้หมู่บ้านยั่งยืน คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และ UN ประจำประเทศไทย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจและพลังในการที่พี่น้องประชาชนจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สู่การพัฒนาตนอย่างยั่งยืน
“ในเรื่องการต่อยอดการส่งเสริมผ้าไทยตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยนั้น พระองค์ทรงซื้อผ้าจากชาวบ้าน ด้วยแนวพระราชดำริ “ขาดทุนคือกำไร” ขาดทุนของพระองค์ท่าน คือ กำไรของชาวบ้าน ทรงซื้อมาเก็บเพื่อเป็นการกระตุ้นปลุกเร้าให้วงจรการผลิตผ้าเกิดขึ้น ซึ่งในอดีตนั้นก็เกิดการความสนใจเป็นช่วง ๆ และยังใช้สีเคมีเป็นสีทอผ้า เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการดึงให้คนกลับมาผลิตผ้า และต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานเรื่อง Sustainable Fashion ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และใช้สีธรรมชาติจากต้นไม้ ดิน น้ำ จากสิ่งที่อยู่รอบตัวของพี่น้องประชาชนบวกกับเรื่องของการนำเอาแฟชั่นสมัยใหม่ ในเรื่องของการดีไซน์ ออกแบบตัดเย็บ ออกแบบลวดลาย โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฟชั่นสมัยใหม่ สีธรรมชาติ และสื่อสารมวลชนมาร่วมกันจนทำให้ทุกวันนี้เกิดความนิยมและทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้สูงจนน่าตกใจ เช่นที่ บ้านดอนกอย จ.สกลนคร ได้น้อมนำแนวพระดำริไปขับเคลื่อน ทำให้จากเดิมที่รายได้ 700 บาท/คน/เดือน ปัจจุบันนี้มีรายได้เกือบ 20,000 บาท/คน/เดือน ด้วยความนิยมของพี่น้องประชาชนที่ได้ซื้อผ้าธรรมชาติ ผ้าที่มีการออกแบบลวดลาย สี ที่ถูกอกถูกใจ ด้วยเพราะการเรียนรู้ตามแนวพระดำริจากดีไซเนอร์ชื่อดัง แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายของพระองค์ท่าน ของกระทรวงมหาดไทย และ UN สอดคล้องเชื่อมโยงกัน คือ มุ่งเน้นให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือตนเองได้ โดยการสนับสนุนให้เขามีโอกาสได้รับการถ่ายทอด ได้รับการโค้ชชิ่งจากผู้เชี่ยวชาญ และเปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชนได้มีการรวมกลุ่ม และให้กลไกตลาดเป็นตัวก่อให้เกิดรายได้ และเกิดการดำรงคงอยู่ของอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป” ดร.วันดี กล่าวเพิ่มเติม
คุณอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาเยือนที่นี่ในวันนี้ และได้เห็นการทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งระหว่าง UN ในประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทยเพื่อเร่งพัฒนาตามเป้าหมาย SDGs โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำการพัฒนาในจังหวัด ซึ่งตนรู้สึกประทับใจอย่างมาก โดย ESCAP มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับประเทศไทยในการดำเนินการพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และแฝงไปด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ตนและทีม UN จะได้ทำความเข้าใจการทำงานในระดับท้องถิ่น เพื่อทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และยกระดับประเทศไทยสู่เวทีระดับภูมิภาค ด้วยผลงานที่โดดเด่นในมิติของ SDGs ข้อต่าง ๆ ที่ประเทศอื่นสามารถนำไปปรับใช้ได้ ทั้งเรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่ยั่งยืนและการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน ทำให้มีคาร์บอนเครดิตกว่า 530,000 ตัน นอกจากนี้ ตนยังให้ความสนใจเกี่ยวกับการประเมินระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของการผลิตผ้าไทย และวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตของผ้า ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อันจะส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดไปสู่การผลิตผ้าไทยในรูปแบบสีเขียวและได้รับการยอมรับในระดับโลกต่อไป
คุณอาร์มิดา ยังได้ติดตามพระกรณียกิจโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ที่ทรงฟื้นฟูการทอผ้าแบบโบราณ ฟื้นฟูการย้อมสีธรรมชาติ การใช้เส้นใยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นไหมหรือฝ้าย โดยมีกลุ่มทอผ้าต้นแบบจาก 4 จังหวัด 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคใต้ กลุ่มมีดีนาทับ กลุ่มผลิตผ้าบาติก จ.สงขลา รางวัลเหรียญทองแดง การประกวดผ้าลายพระราชทานที่ขยายโอกาสให้นักเรียนจากการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เข้ามาฝึกอาชีพสร้างรายได้ จากลายผ้าพระราชทาน ภาคเหนือ กลุ่มตะเคียนปม อ.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน ที่ฟื้นฟูการปลูกฝ้าย เข็นฝ้าย ฟื้นฟูการปลูกฮ้อม และย้อมสีธรรมชาติจากฮ้อม ภาคอีสาน จาก Donkoi Sustainability Village โครงการที่พระราชทานเป็นต้นแบบหมู่บ้านยั่งยืน ที่เป็นแนวทางให้พัฒนาทั้งระบบจนประสบความสำเร็จในทุกๆด้าน มีรายได้รวมต่อเดือนราว 1.7 ล้านบาท ภาคกลาง กลุ่มเยาวชนทอผ้าจากอำเภอเนินขาม จ.ชัยนาท ที่ได้รับพระราชทานแนวทางการพัฒนาสีจากหนังสือเทรนด์บุ๊ก มาฟื้นฟูภูมิปัญญาสีธรรมชาติจากบรรพบุรุษ ซึ่งทาง UN เรียกโครงการเหล่านี้ว่า Fashion Sustainability ที่เกิดจากแนวพระดำริทั้งระบบเพื่อสร้างความยั่งยืนรอบด้าน ในการนำประสบการณ์ด้านแฟชั่นส่วนพระองค์ มาพระราชทานให้กับประชาชน ก่อให้เกิดรายได้และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
“ความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทยในการทำให้ SDGs สามารถขับเคลื่อนในระดับท้องถิ่น การสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานระดับภูมิภาค และการเสริมสร้างความร่วมมือกับสหประชาชาติจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยและทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับแนวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคต่อไป” คุณอาร์มิดา กล่าวในช่วงท้าย. – สำนักข่าวไทย