กทม. 19 มี.ค.-ปภ.แนะเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ ลดเสี่ยงอันตรายจากอากาศแปรปรวน
ช่วงฤดูร้อนหลายพื้นที่มักได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมพร้อมรับมือ และปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยเมื่อเกิดพายุฤดูร้อน ดังนี้
ฤดูกาลการเกิดพายุฤดูร้อน มักเกิดในช่วงฤดูร้อนถึงช่วงต้นฤดูฝน ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ลักษณะของพายุฤดูร้อน
- ช่วงก่อนเกิดพายุฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ลมสงบ ท้องฟ้าขมุกขมัว เมฆก่อตัวเป็นก้อนใหญ่ ลมพัดแรงเป็นครั้งคราว เมฆก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว ฟ้าแลบ และฝนฟ้าคะนองในระยะไกล
- ขณะเกิดพายุฤดูร้อน สภาพอากาศแปรปรวน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า กรณีพายุมีกำลังแรงอาจมีลูกเห็บตก และฝนตกระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง
การเตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน
- หมั่นติดตามพยากรณ์อากาศ จะได้ทราบช่วงเวลาและพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดพายุฤดูร้อน
- หากมีประกาศเตือนพายุฤดูร้อน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะประตู หน้าต่าง และหลังคาบ้าน
- จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวลมได้ในที่มิดชิด เพื่อป้องกันสิ่งของถูกพายุพัดเสียหายและอันตรายจากการถูกสิ่งของพัดกระแทก
- สำรวจต้นไม้บริเวณรอบบ้านให้อยู่ในสภาพปลอดภัย โดยตัดแต่งกิ่งไม้ที่ไม่แข็งแรงและโค่นต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการหักโค่น
- ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง โดยเฉพาะเสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณา เสาสัญญาณโทรศัพท์
- ดูแลพืชผลทางการเกษตร โดยจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบังปกคลุมผลผลิตทางการเกษตร
การปฏิบัติตนขณะเกิดพายุฤดูร้อน
กรณีอยู่ในอาคาร
- ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันแรงลมพัดสิ่งของเข้ามาในบ้าน
- งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันเครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหาย และผู้ใช้งานได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า
- ไม่อยู่บริเวณที่เสี่ยงต่อการแตกหัก อาทิ หลังคาสกายไลท์ ประตู หรือหน้าต่างที่เป็นกระจก เพื่อป้องกันอันตรายจากลูกเห็บตกใส่
กรณีอยู่กลางแจ้ง - ไม่หลบพายุในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะบริเวณต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างไม่มั่นคงแข็งแรง
- อยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นโลหะหรือสื่อนำไฟฟ้า อาทิ รางรถไฟ เพิงสังกะสี รั้วลวดหนาม ประตูโลหะ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพราะแบตเตอรี่มีส่วนผสมของโลหะจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
- ไม่พกพาหรือสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ เงิน ทอง นาก ทองแดง และร่มที่มียอดเป็นโลหะ
การปฏิบัติตนหลังเกิดพายุฤดูร้อน
- ห้ามเข้าใกล้บริเวณที่ได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน เพราะอาจได้รับอันตรายจากสิ่งปลูกสร้างล้มทับหรือไฟฟ้าดูด
- ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรับปรุงแก้ไข อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานด้านการไฟฟ้า หรือหน่วยบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่
ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตนอย่างถูกวิธี ขณะเกิดพายุฤดูร้อน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงที่เกิดภัยเป็นไปด้วยความปลอดภัย.-สำนักข่าวไทย