ลาว 25 พ.ค. – ไทยเดินหน้าร่วมส่งเสริมเอสเอ็มอีลาวบุกตลาดอาเซียน เร่งรัดลาวพัฒนาระบบผันน้ำไปภาคอีสาน รองรับภาคเกษตร และมุ่งพัฒนาการท่องเที่ยว 2 ฝั่งโขง
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลไทย-สปป.ลาว เห็นชอบจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมกันด้านการท่องเที่ยวนับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างรายได้และส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างไทย-ลาวเพิ่มขึ้น จึงนำงบกลุ่มจังหวัดพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดเลย บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวภูดอน-เวียงจันทน์ และเชื่อมสะพานมิตรภาพไทย-ลาว 4-5 แห่ง ผ่านตลาดประชารัฐนำสินค้า 2 ประเทศมาจำหน่ายสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน จึงเร่งหารือจัดทำแผนร่วมกัน
สำหรับรูปแบบการส่งเสริมมีทั้งล่องเรือท่องเที่ยววิถีชีวิตริมฝั่งโขงและขึ้นบกท่องเที่ยวแหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ วัฒนธรรม การช้อบปิ้ง และการท่องเที่ยวเชิงกีฬา แรลลี่ ปั่นจักรยาน นอกจากจัดกิจกรรมในประเทศไทยแล้วยังต้องการขยายเส้นทางข้ามมาฝั่งลาว จึงขอให้ สปป.ลาวช่วยดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว มุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบ “อีสาน ลาว” เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติข้ามฝั่งไทยไปฝั่งลาวเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากไทยข้ามไปฝั่งลาวประมาณร้อยละ 2-3 เมื่อจัดทำยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวร่วมกันน่าจะผลักดันเพิ่มเป็นร้อยละ 5, 10, 15, 20 ต่อปีในอีก 5 ปี ข้างหน้า มุ่งขายการท่องเที่ยว “อีสาน ลาว” เพื่อสร้างรายได้ให้กับทั้ง 2 ประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังเดินหน้าประมูลแข่งกับอีกหลายประเทศ เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Mortor GP เนื่องจากเป็นรายการแข่งขันรถระดับโลกที่มีคนดูมากกว่าการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน ( F1) ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศยื่นประมูลแข่งขัน เช่น ฟินแลนด์ คาซัคสถาน อินเดีย หากไทยได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันจะดึงคนเข้าชมในสนามได้นับแสนคนจะส่งเสริมอุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์ ซึ่งกำลังเติบโตในประเทศ รวมทั้งการพักอาศัยในรีสอร์ท โรงแรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นและอาจข้ามเที่ยวฝั่งลาวเพิ่มด้วย
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลไทยเดินหน้าจัดทำ “Border Town” เพื่อเป็นเมืองปลอดภาษีเปิดทางให้ชาวบ้านขายสินค้าและซื้อสินค้าใช้ในชีวิตประจำวัน จึงต้องหารือกับกระทรวงการคลังเพิ่มและส่งเสริมผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาในเขตดังกล่าว ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังร่วมกับ สปป.ลาว พัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยมีฝ่ายไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาร่วมงาน 20 ราย ฝ่าย สปป.ลาว 30 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายร่วมกันจากสมาคมนักธุรกิจหนุ่มแห่งชาติลาวและสมาคมนักธุรกิจแม่หญิงลาว เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน สร้างความสัมพันธ์และร่วมทุน โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)พร้อมให้สินเชื่อกับกลุ่มดังกล่าว
ขณะที่ฝ่ายไทยพร้อมจัดทำหลักสูตรพัฒนาเอสเอ็มอีทั้งการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การทำตลาดผ่านออนไลน์ บริหารจัดการ การใช้เทคโนโลยีสร้างการเติบโตให้กับเอสเอ็มอี โดยฝ่าย สปป.ลาว มีศักยภาพด้านวัตถุดิบ ขณะนี้เอสเอ็มอีของลาวจากคนรุ่นใหม่เริ่มเติบโตและพร้อมบุกตลาดอาเซียนสูงมาก พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณสะพานมิตรภาพ เพื่อดึงอุตสาหกรรมศักยภาพมาตั้งอยู่ในเขตการรับส่งเสริม ปัจจุบัน สปป.ลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน ตรงข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร จึงต้องขยายเพิ่มให้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับไทย ปัจจุบันมีแผนสร้างในจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว เพื่อเชื่อมโยงพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกันมากกว่าการแข่งขัน
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากไทยลงนามร่วมกับ สปป.ลาวรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจาก 7,000 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ โดยมีเงื่อนไขกำหนดให้ สปป.ลาวพัฒนาระบบผันน้ำเข้ามายังไทยด้านจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อส่งเข้าไปยังเขื่อนสิริกิติ์และผันน้ำไปยังเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธ์ รองรับความต้องการภาคเกษตรของไทย หลังจากเดินทางกลับจาก สปป.ลาวครั้งนี้จะลงนามตั้งคณะกรรมการฝ่ายไทย เพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมระหว่าง 2 ประเทศ โดยมีปลัดกระทรวงพลังงาน 2 ประเทศเป็นประธานขับเคลื่อนแนวทางผันน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำอย่างเพียงพอในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นอกจากนี้ สปป.ลาวมีแผนสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าจาก 45 เขื่อน เพิ่มอีก 50 แห่ง เป็น 95 แห่ง จึงมีกำลังไฟฟ้าเพิ่มอีก 6,000 เมกะวัตต์ จึงเสนอให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ลงนามรับซื้อไปแล้ว 9,000 เมกะวัตต์ โดยไทยพร้อมรับซื้อเพิ่ม แต่ขอพิจารณาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในการรับซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังพร้อมร่วมมือกับ สปป.ลาวปรับปรุงระบบสายส่งในประเทศลาว เพื่อให้มีกำลังแรงส่งเพิ่มจาก 115 กิโลโวลต์ เป็น 500 กิโลโวลต์ เนื่องจาก สปป.ลาวยังต้องผลิตไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น จึงมีแรงดันระบบสายส่งเพิ่มขึ้นรองรับการส่งไฟฟ้าจำหน่ายไปประเทศเพื่อนบ้าน. – สำนักข่าวไทย