สำนักงาน กกต. 24 พ.ค.- “ศุภชัย” ประธาน กกต.ปฎิเสธให้ความเห็นชงศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจัดเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ 150 วัน ระบุ กกต.ยังไม่มีการหารือ เผยหากไม่รวมระยะเวลาประกาศรับรองผล กกต.-พรรคการเมือง ทำงานสะดวก ด้านที่ประชุมคณะที่ปรึกษากฎหมาย กกต. เห็นว่ารัฐธรรมนูญ ม.93,94 เขียนรับ ม. 268 จัดเลือกตั้งแล้วเสร็จ 150 วันไม่รวมระยะเวลาประกาศรับรองผล พร้อมปมกมธ.สนช.ตัดอำนาจ กกต.คนเดียวสั่งระงับเลือกตั้งได้อาจขัดรัฐธรรมนูญเหตุ ม.224 วรรคท้ายบัญญัติให้อำนาจชัด
นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 หมายรวมถึงการรับรองผลการเลือกตั้งด้วยหรือไม่นั้น ว่า ตนไม่ขอให้ความเห็นในเรื่องนี้ แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่ได้มีการหารือในที่ประชุมของคณะกรรมการ กกต. เรื่องนี้หากระยะเวลา 150 วัน ไม่รวมถึงการรับรองผลการเลือกตั้ง กกต.ก็ทำงานได้สะดวก พรรคการเมืองก็สะดวก แต่หากบีบในระยะเวลาสั้น ๆ ทุกอย่างก็จะถูกล็อคตามกรอบเวลา ก็จะเป็นเรื่องที่ลำบากหากเกิดปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมาที่มีนายสุรินทร์ นาควิเชียร อดีตรองประธานศาลฎีภา เป็นประธาน และนายประวิช รัตนเพียร เป็นตัวแทน กกต. เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมคณะที่ปรึกษาฯได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวตามที่ กกต.ขอ โดยเห็นตรงกันว่า ระยะเวลาดังกล่าวเป็นกระบวนการในการกำหนดวันเลือกตั้งและการจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่นับรวมระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งจนเสร็จสิ้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 กำหนดไว้ว่า ภายใน 1 ปี นับจากวันเลือกตั้ง ถ้าต้องมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในเขตเลือกตั้งใด เพราะเหตุการเลือกตั้งในเขตนั้นมิได้เป็นโดยสุจริตเที่ยงธรรม
และมาตรา 93 ที่กำหนดว่าถ้าการเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งครบทุกเขตเลือกตั้งไม่ว่าด้วยเหตุใด การคำนวนจำนวน ส.ส.แต่ละพรรคที่พึงมีพึงได้รับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดนั้น 2 มาตรานี้กล่าวถึงกระบวนการในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งแปลถึงการประกาศผลครั้งแรกต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ซึ่งจะยังไม่จบสิ้นกระบวนการในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง โดยอาจมีการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่และประกาศผลใหม่จนกว่าจะครบ 100เปอร์เซ็นต์
ส่วนประเด็นที่ กกต.ขอหารือว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ของ สนช. มีการแก้ไขมาตรา 26 ของร่าง พ.ร.ป.กกต. โดยตัดอำนาจ กกต.คนเดียวสามารถสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งได้ โดยให้อำนาจดังกล่าวเป็นของกกต.ทั้งคณะนั้น ที่ประชุมคณะที่ปรึกษากฎหมายเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 224 วรรคท้ายได้บัญญัติโดยใช้คำว่า “ให้กกต.แต่ละคน” ที่พบเห็นการระทำผิดในหน่วยหรือเขตเลือกตั้งใด สามารถสั่งระงับยับยั้งได้ ดังนั้นในร่างพ.ร.ป.กกต.ก็จำเป็นต้องบัญญัติให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
และประเด็นที่ กกต.ขอหารือว่าในมาตรา 27วรรคสอง ของร่างพ.ร.ป.กกต.ที่บัญญัติให้กกต.ดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นภายใต้การควบคุมของกกต. เป็นการตัดอำนาจ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 224 ( 1) ซึ่งใช้คำว่า กกต.มีหน้าที่และอำนาจ “จัด” หรือ ดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น หรือไม่ ซึ่งที่ประชุมคณะที่ปรึกษากฎหมายก็เห็นว่า เนื้อหาตามร่างมาตรา 27 พ.ร.ป.กกต. เป็นไปตามเจตนารมย์มาตรา 224 ( 1) ของรัฐธรรมนูญแล้ว และไม่ได้เขียนห้าม กกต.ในการที่จะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นเอง โดยทั้งสองประเด็นดังกล่าวในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯของ สนช. ผู้แทนของ กกต.สามารถขอสงวนคำแปลญัตติได้ ซึ่งทางสำนักงานก็จะได้สรุปผลการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายเสนอต่อที่ประชุม กกต.พิจารณาต่อไป .-สำนักข่าวไทย